ปวดห้อง ชอบน้ำอั้นไว้ ไม่ยอมเข้า ระวังกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

27 ธ.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

ปวดห้อง ชอบน้ำอั้นไว้ ไม่ยอมเข้า ระวังกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

เคยเป็นกันไหม เวลารู้สึกปวดปัสสาวะแต่ยังไม่อยากเข้า รอให้ปวดสุด ๆ ปวดจนทนไม่ไหวจริง ๆ หรือบางทียังไม่สามารถเข้าได้ ณ ตอนนั้นด้วยเพราะติดภารกิจบางอย่าง พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบกันทั้งนั้น โรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย จะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่า จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอักเสบได้ง่ายกว่า โดยอาการหลัก ๆ ของโรคนี้ คือ ปัสสาวะบ่อย ๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะมีเลือด ปัสสาวะขุ่น และปวดท้องน้อยตอนปัสสาวะสุด สำหรับโรคดังกล่าวไม่ควรมองข้าม เพราะนำมาซึ่งความอันตรายต่อเนื่องได้อีกหลายโรค

 

ทำไมการอั้นปัสสาวะจึงเป็นอันตราย

ทำไมการอั้นปัสสาวะจึงเป็นอันตราย ก่อนจะไปตอบคำถามนี้ เราขออธิบายให้ทุกคนเข้าใจก่อน กระเพาะปัสสาวะ มีรูปทรงคล้ายคลึงกับบอลลูน ของผู้หญิงจะอยู่บริเวณหัวหน่าวข้างในอุ้งเชิงกรานใกล้เคียงกับมดลูก ส่วนของผู้ชายจะอยู่ที่ด้านหน้าทวารหนัก ซึ่งทำหน้าที่เก็บปัสสาวะในปริมาณ 350-500 มิลลิลิตร เมื่อเก็บไปจนเกิน 250 มิลลิลิตร กระเพาะปัสสาวะจะเริ่มหดตัว ทุกคนจะเริ่มรู้สึกต้องการเข้าห้องน้ำ ถ้าหากขับออกมาทันที ก็จะไม่เกิดผลกระทบอะไร ดังนั้นจึงไม่ควรอั้นไว้ เพราะถ้าหากอั้นไว้ อาจเป็นอันตรายและเกิดเหล่านี้ได้

 

การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือ Urinary Tract Infection คือ ภาวะที่เกิดจากระบบทางเดินปัสสาวะที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อแบคทีเรีย มีทั้งแบบอาการและไม่มีอาการ มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง นอกจากนี้ความอันตรายของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะยังสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ไต กระเพาะปัสสาวะ รวมถึงท่อปัสสาวะด้วย การติดเชื้อในระบบนี้แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม

  • ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่ไม่ซับซ้อน เป็นการติดเชื้อในผู้ป่วยที่สุขภาพแข็งแรง และมีโครงสร้างของระบบทางเดินปัสสาวะปกติ
  • ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่ซับซ้อน เป็นการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีสุขภาพอ่อนแอ และมีโครงสร้างของระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ

 

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

อั้นปัสสาวะ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคใดได้บ้าง

อั้นปัสสาวะบ่อย ๆ เป็นพฤติกรรมที่คนทำกันเยอะ และดูเหมือนจะไม่ได้มีปัญหาอะไรมากในระยะสั้น แต่ถ้าหากทำซ้ำ ๆ ทำไปเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิดโรคเหล่านี้ตามมาได้ด้วย

 

กรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบ เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงขึ้นจากการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ มีสาเหตุมาจากเชื้อโรคแพร่กระจายไปยังท่อไตจนถึงบริเวณกรวยไต ซึ่งอาการหลัก ๆ ที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • ปวดเอวข้างเดียว ปวดลามไปจนถึงท้องน้อย
  • ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีเลือดปน
  • คลื่นไส้ อาเจียน 

สำหรับกรวยไตอักเสบ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจจะนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคไตวายได้

 

นิ่วในทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในทางเดินปัสสาวะ มีสาเหตุมาจากการที่สารบางชนิดในปัสสาวะตกผลึกและจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง การอั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ทำให้ปัสสาวะเข้มข้นมากขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว ซึ่งอาการหลัก ๆ ที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะไม่ค่อยออก
  • บางรายพบว่าปัสสาวะเป็นเลือด หรือสีน้ำตาล
  • ปัสสาวะแล้วมีเม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ หรือขุ่นเหมือนมีผงแป้งปะปน
  • มีไข้ ปวดเมื่อย รวมถึงปวดข้อ

 

กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง

กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง การอั้นปัสสาวะบ่อยๆ ทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะต้องทำงานหนักขึ้นเรื่อยๆ อาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ควบคุมการปัสสาวะไม่ได้ ซึ่งอาการหลัก ๆ ที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปัสสาวะรดที่นอน
  • ปวดปัสสาวะบ่อย
  • ปัสสาวะไม่สุด

 

อื่น ๆ

นอกจากโรคที่กล่าวไปแล้ว ยังมีโอกาสเป็นโรคอื่น ๆ อย่างนิ่วในไต และต่อมลูกหมาก ที่เกิดจากการอั้นปัสสาวะของผู้ชายได้เช่นเดียวกัน

 

ดูแลระบบทางเดินปัสสาวะ

 

ระบบทางเดินปัสสาวะ ดูแลอย่างไร

ระบบทางเดินปัสสาวะ สามารถดูแลได้ ดังนี้

 

ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม

ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้ปัสสาวะเจือจาง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว ล้างพิษในร่างกาย รวมถึงช่วยให้ระบบทางเดินปัสสาวะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรดื่มวันละ 8 แก้วต่อวัน หรือตามน้ำหนักตัว

 

ปัสสาวะจนรู้สึกว่าสุด

ปัสสาวะจนสุด หากปัสสาวะไม่สุดจะทำให้ปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้

 

เลี่ยงกาแฟ และคาเฟอีน

เลี่ยงกาแฟ เลี่ยงคาเฟอีน เนื่องจากเป็นสารที่กระตุ้นทำให้ปัสสาวะถี่มากขึ้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง

 

ดูแลสุขอนามัย

ดูแลสุขอนามัย ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะ ทำได้โดยการทำความสะอาดทุกครั้งหลังขับถ่าย เช็ดจากด้านหน้าอวัยวะเพศไปจนถึงด้านหลังเพื่อเลี่ยงการปนเปื้อน ในกรณีที่ผู้หญิงเป็นประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมง ถ้ามีเหตุจำเป็นให้ต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะควรทำความสะอาดฝารองนั่งชักโครกก่อนใช้งาน

 

รักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะ กับสินแพทย์ กาญจนบุรี

โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี แผนกศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะพร้อมบริการให้แก่ประชาชนทุกคน ด้วยการมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่เข้ามาช่วยทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น

 

โปรแกรมส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ (แบบใช้ยาชาเฉพาะจุด)

โปรแกรมส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ (แบบใช้ยาชาเฉพาะจุด) เน้นการตรวจเพื่อเช็กลักษณะของท่อปัสสาวะและเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ ในราคา 7,500 บาท

ถ้าหากคุณเป็นคนที่กำลังเผชิญกับอาการ มีเลือดในปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่ออก ไม่พุง ปัสสาวะแบบกะปริบกะปรอย หรือต้องใช้เวลาในการเบ่งปัสสาวะนานผิดปกติ แนะนำให้เข้ามาลองตรวจหาสาเหตุที่โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

SHARE