ทานเนื้อดิบ สัมผัสสัตว์ป่วย…ระวังเสี่ยงโรคแอนแทรกซ์ !!! (Anthrax)

2 พ.ค. 2568 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกมีรูปร่างเป็นเส้นยาวรี มักพบในดิน มีสัตว์กินหญ้าเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว กระบือ แพะ แกะ กวาง เป็นแหล่งโรค เชื้อนี้มีความทนทานมากสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นสิบปี



โรคแอนแทรกซ์เกิดจากอะไร ?

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกมีรูปร่างเป็นเส้นยาวรี มักพบในดิน มีสัตว์กินหญ้าเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว กระบือ แพะ แกะ กวาง เป็นแหล่งโรค เชื้อนี้มีความทนทานมากสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นสิบปี

 

โรคแอนแทรกซ์ติดต่อได้อย่างไร ?

เชื้อนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 3 ทางหลัก ได้แก่

 

  1. ผิวหนัง พบได้บ่อยที่สุด โดยการสัมผัสสัตว์ป่วย เชื้อจะเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล อาการมักไม่รุนแรงหากรักษาเร็ว
  2. ระบบทางเดินหายใจ โดยการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป อาการมักรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตสูง
  3. ะบบทางเดินอาหาร โดยการกินเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อและไม่ผ่านการปรุงสุก หรือนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ อาการมักรุนแรง

 

ระยะฟักตัวตั้งแต่รับเชื้อจนถึงแสดงอาการอยู่ระหว่าง 1-7 วัน แต่ถ้าเป็นการสูดหายใจรับสปอร์ของเชื้อเข้าไประยะฟักตัวอาจยาวนานถึง 60 วัน

 

อาการของโรคแอนแทรกซ์เป็นอย่างไร ?

  • อาการทางผิวหนัง (Cutaneous anthrax) : บริเวณที่สัมผัสเชื้อจะเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง มักมีอาการคันและบวมรอบแผล ต่อมากลายเป็นแผลลึกที่มีตรงกลางยุบเป็นเนื้อตายสีดำ มักพบบริเวณนอกร่มผ้า
  • อาการระบบทางเดินหายใจ (Inhalational anthrax) : มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ไอ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย จนถึงระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้
  • อาการระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal anthrax) : ไข้สูง แผลในปาก ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด อ่อนเพลีย ขาดน้ำและเกลือแร่

 

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การติดเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

 

การวินิจฉัยโรคแอนแทรกซ์ทำอย่างไร ?

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่สงสัยร่วมกับประวัติการสัมผัสโรคหรือมีความเสี่ยงสัมผัสโรค การตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในสิ่งส่งตรวจ เช่น ผิวหนังที่มีรอยโรค เลือด เสมหะ น้ำไขสันหลัง หรือการตรวจหาแอนติบอดีในเลือด

 

โรคแอนแทรกซ์รักษาอย่างไร ?

การรักษาจำเพาะคือการให้ยาปฏฺิชีวนะ เช่น ยาในกลุ่มเพนนิซิลิน อิริโทรมัยซิน ด็อกซีซัยคลิน ควิโนโลน ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ การแก้ไขภาวะช็อคและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

 

ป้องกันโรคแอนแทรกซ์ได้อย่างไร ?

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยรวมถึงซากสัตว์
  • ปรุงอาหารให้สุก ไม่ทานเนื้อสุกๆดิบ นมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อหรืออาจมีการปนเปื้อน
  • ล้างมือหรือทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์
  • ถ้ามีสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่
  • ฉีดวัคซีนสัตว์ในพื้นที่เกิดโรค
  • การฉีดวัคซีนป้องกันแอนแทรกซ์ในคน มีใช้เฉพาะในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ
  • ผู้ที่สัมผัสเชื้อแต่ยังไม่มีอาการ แนะนำให้กินยาป้องกันหลังสัมผัส
SHARE