รู้ไว้ห่างไกลมะเร็งตับ

11 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

มะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้ชายไทย 80% ของผู้ที่เป็นมะเร็งตับมีสาเหตุสำคัญมาจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มะเร็งตับ ในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ และรักษาได้ถ้าตรวจพบในระยะเริ่มแรก



  • มะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้ชายไทย
  • 80% ของผู้ที่เป็นมะเร็งตับมีสาเหตุสำคัญมาจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
  • มะเร็งตับ ในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ และรักษาได้ถ้าตรวจพบในระยะเริ่มแรก

 

ควรตรวจอะไรบ้าง เพื่อให้ห่างไกลมะเร็งตับ

 

เนื่องจากโรคมะเร็งตับ ในระยะเริ่มแรกหรือระยะที่ทำการรักษาได้ มักไม่แสดงอาการผิดปกติ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ หากมีสิ่งผิดปกติเพียงเล็กน้อย จึงมักไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับการทำงานของตับ ตับจึงยังทำงานได้เกือบปกติ แต่เมื่อมีแสดงอาการที่ชัดเจน เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกเสียดแน่นท้อง น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว ปวดชายโครงด้านขวา ตัวเหลืองตาเหลือง นั่นแสดงว่าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก จนไม่สามารถที่จะรักษาได้และเมื่อพบในระยะนี้ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาไม่นาน

 

การตรวจหามะเร็งตับในปัจจุบัน ทำได้ดังนี้

  • ตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ AFP (Alpha fetoprotein) เป็นสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีในเลือด และเป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจเป็นมะเร็งตับ แต่การตรวจเลือดเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะมีข้อมูลพบว่าประมาณ 30% ของผู้ที่เป็นมะเร็งตับมีค่า AFP ปกติ และค่า AFP อาจพบสูงได้ในโรคตับบางชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งดังนั้น จึงควรตรวจร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์
  • ตรวจอัลตราซาวด์ดูอวัยวะในช่องท้อง (Ultrasound Abdomen) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงสร้างภาพจากอวัยวะภายใน การตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยให้มองเห็นก้อนที่มีขนาดเล็กๆ ได้ในขนาด 1 เซนติเมตรขึ้นไป
  • ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยวิธีนี้ จะช่วยให้มองเห็นก้อนที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรได้
  • ตรวจโดยการตัดชิ้นเนื้อตับ (Liver Biopsy) เป็นการตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ช่วยยืนยันก้อนเนื้อที่พบว่าใช่เซลล์มะเร็งหรือไม่ ซึ่งสามารถทำได้โดยการส่องกล้อง

 

 

ต้องตรวจบ่อยแค่ไหน

  • สำหรับคนปกติทั่วไป แนะนำให้ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง (Ultrasound Abdomen) และตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ควรตรวจอัลตราซาวด์, ตรวจเลือด AFP และตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ SGOT, SGPT, Liver function Test ปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน เพื่อลดโอกาสเกิดตับแข็ง และเป็นการเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับได้ด้วย

 

เรามีวิธีการป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร

  1. เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในคนไทย คือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ดังนั้นจึงควรป้องกันการติดเชื้อนี้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี ส่วนไวรัสตับอักเสบ ซี ยังไม่มีวัคซีน จึงควรป้องกันโดยการ ไม่ใช้เข็มฉีดยา หรือเข็มสักร่วมกัน
  2. งดดื่มแอลกฮอล์
  3. ในผู้ที่เป็นโรคตับอยู่แล้ว ควรติดตามพบแพทย์สม่ำเสมอ
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็งตับ เช่น ถั่ว โดยเฉพาะถั่วลิสงป่นที่ค้างนานๆ เมล็ดธัญพืชตากแห้ง พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว และเต้าหู้ยี้

 

พบแพทย์เฉพาะทาง คลินิกอายุรกรรมทางเดินอาหารและตับ

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา  

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์  

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ 

 

SHARE