
4 ระยะโรคกรดไหลย้อน อาการแบบไหนเป็นยังไง มาเช็กได้เลย!
ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่คนทำงานหนักมากที่สุด พกคอมพิวเตอร์ทำงานไปด้วยทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ในวันที่ลาหยุด หรือในวันหยุดพักผ่อน และเวลามาที่ออฟฟิศ ก็นั่งหน้าคอมฯ ทำงาน 8 ชั่วโมง ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ทำให้กินข้าวไม่ตรงเวลา พอได้กินก็จะจุกแน่นบริเวณท้อง เรอบ่อย ตอนกลางคืนนอนแล้วรู้สึกแสบร้อนบริเวณกลางอก สัญญาณเบื้องต้นเหล่านี้คุณอาจจะกำลังเป็นโรคยอดฮิตของคนวัยทำงานอย่าง “กรดไหลย้อน” ซึ่งโรคนี้ถ้าดูผิวเผินอาจจะเป็นเพียงกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าหากเจาะลึกไปจริง ๆ จะรู้ว่าโรคนี้น่ากลัวมากกว่าที่คิด เพราะสามารถลุกลามไปจนสู่ปัญหามะเร็งกระเพาะอาหารได้เลย สินแพทย์ ลำลูกกา จะมาพูดถึงที่มาของการเกิดกรดไหลย้อน ความแตกต่างระหว่างโรคดังกล่าวกับโรคกระเพาะ และระยะของโรค พร้อมแนวทางการรักษาแต่ละระยะ จึงอยากขอให้เหล่าพนักงานออฟฟิศ สละเวลางานสัก 2-3 นาที เพื่อสุขภาพที่ดีไปอีกนานแสนนาน
กรดไหลย้อน เกิดจากอะไร
กรดไหลย้อน เกิดจากสาเหตุหลัก ๆ จากการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ความเครียด ส่งผลให้มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดวิธี เพราะเน้นกินเร็ว กินแล้วไม่ค่อยเคี้ยว กินไม่ตรงมื้ออาหาร เนื่องจากต้องทำเวลา ปราศจาก Work life balance ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหาร ส่งผลให้หลอดอาหารผิดปกติ อาการหลัก ๆ คือ แสบร้อน เรอเปรี้ยวมีรสขม รู้สึกคลื่นไส้
ซึ่งถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ ให้มีอาการเรื้อรัง หรือเลือกที่จะรับประทานยาด้วยตัวเองแบบไม่พบแพทย์ อาจจะนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับหลอดอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็น หลอดอาหารอักเสบ หลอดอาหารเป็นแผล หรือแม้กระทั่งหลอดอาหารตีบ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ทั้งสิ้น ดังนั้นการใช้ชีวิตให้มีความบาลานซ์ กินข้าวให้ตรงเวลา เคี้ยวให้ละเอียด คือ วิธีการกินข้าวที่ถูกต้องที่สุด
โรคกรดไหลย้อน VS โรคกระเพาะ ต่างกันไหม
แม้ว่าทั้ง 2 โรคนี้จะเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยได้คล้าย ๆ กัน แต่ถ้าให้แยก ทั้งโรคกรดไหลย้อนกับโรคกระเพาะ ทั้งสองนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ โดยสามารถแยกได้ ดังนี้
- โรคกรดไหลย้อน : โรคกรดไหลย้อน จะมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก เป็นมากกว่า 2 ครั้งต่ออาทิตย์ โดยมีอาการหลังจากทานอาหาร 30-60 นาที รู้สึกกลืนลำบากเหมือนมีก้อนอยู่บริเวณลำคอ เจ็บปวดบริเวณหน้าอก ยาลดกรดไม่สามารถเอาอยู่ หากเป็นเรื้อรัง รักษาไม่หาย ไม่ปรับพฤติกรรม อาจจะนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้
- โรคกระเพาะ : โรคกระเพาะ จะปวดจุกบริเวณลิ้นปี่ บริเวณเหนือสะดือ รวมถึงปวดใต้ชายโครงซ้าย เป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดรุนแรงจนไม่สามารถนอนหลับได้ สัมพันธ์กับมื้ออาหาร โรคนี้จะอาเจียนเหมือนกับกรดไกลย้อน แต่จุดที่แตกต่าง คือ อุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักตัวลด มีอาการเหลืองทั้งตัวและดวงตา หากเมื่อไหร่ที่คลำแล้วพบก้อนในท้อง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่นเดียวกับกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน 4 ระยะ มีอาการแบบไหนบ้าง
กรดไหลย้อน อาการ 4 ระยะ มีอาการแตกต่างกันไปตามแต่ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1
ระยะที่ 1 ระยะนี้จะมีอาการเสียดท้อง หลอดอาหารอักเสบเล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการนาน ๆ ที ใน 1 เดือนจะเป็นเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น ไม่รบกวนสุขภาพโดยรวมเท่าไหร่ หรือมีชื่อเรียกว่า ภาวะการไหลย้อนที่กระเพาะอาหาร โดยอาการหลัก ๆ คือ เรอเปรี้ยว แสบร้อนบริเวณคอ แน่นท้อง เจ็บหน้าอก เหมือนมีก้อนจุกที่คอ
วิธีรักษา
วิธีรักษา สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น กินข้าวให้ตรงเวลา กินแล้วไม่ควรนอนทันที เบื้องต้นสามารถใช้ยาลดกรดที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายยาก่อนได้
ระยะที่ 2
ระยะต่อมา ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการมาถี่มากขึ้น 2-3 ครั้งต่ออาทิตย์ เป็นระยะที่ต้องเข้าพบแพทย์ เพื่อรับยาลดกรด และยาอื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ ในระยะนี้จะมีอาการท้องอืดหายใจได้ไม่สุด หอบเหนื่อยง่าย แสบร้อนกลางอก แสบคอ การขับถ่ายผิดปกติ รวมถึงปวดตึงบริเวณคอ บ่า ไหล่
วิธีรักษา
วิธีรักษา เมื่อปรึกษาแพทย์ แพทย์จะทำการจ่ายยาในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPIs) เป็นยาลดกรด ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้เล็กส่วนตัว แผลในทางเดินอาหารจากการใช้ยา หรือรักษากรดไหลย้อนโดยตรง
ระยะที่ 3
ระยะที่ 3 ระยะที่เพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การอักเสบของหลอดอาหารมีอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีอาการอื่น ๆ ที่มาจากกรดไหลย้อน เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบ คลื่นไส้ อาเจียน สำลักอาหาร
วิธีรักษา
วิธีรักษา ระยะนี้ควรปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ควรที่จะต้องปรับวิถีการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ระยะที่ 4
ระยะสุดท้าย ระยะที่อาจจะนำไปสู่โรคมะเร็งหลอดอาหารหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 10% ของผู้ป่วยกรดไหลย้อน จะสามารถมาถึงระยะนี้ได้ เพราะการรักษาที่ผิดวิธี หรือไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยสะสมมาเป็นระยะเวลานานหลายปี อาการโดยทั่วไปจะเหมือนกับ 3 ระยะด้านบน แต่จุดที่แตกต่าง คือ เยื่อบุอาหารชนิดบาร์เร็ตต์ มีการเปลี่ยนแปลง
วิธีรักษา
วิธีรักษา ระยะนี้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษากับแพทย์เฉพาะทาง แต่ต้องบอกว่าการผ่าตัดไม่สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้แบบ 100% ผู้ป่วยบางรายที่ผ่าตัดไปแล้ว กลับมาเป็นใหม่ได้ภายใน 3-5 ปี
ป้องกันกรดไหลย้อน ตามวิธีของสินแพทย์ ลำลูกกา
ป้องกันกรดไหลย้อน ตามวิธีของสินแพทย์ ลำลูกกา สามารถทำได้โดย
- การรับประทานอาหารในปริมาณที่พอดีในแต่ละมื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัด ช็อกโกแลต กาแฟ แอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม
- ควรรับประทานอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และรับประทานอาหารแต่ละมื้อให้เป็นเวลาเดิม ๆ หรือตรงเวลา
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียดจะช่วยลดภาระการทำงานของกระเพาะอาหาร
- ในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน ควรควบคุมน้ำหนัก เพราะจะมีความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อนมากกว่าคนทั่วไป
- การสูบบุหรี่จะทำให้หูรูดหลอดอาหารคลายตัว ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น
- ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นบริเวณเอว เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อน
สรุป
แม้ว่าการใช้ชีวิตในปัจจุบันจะเร่งรีบแค่ไหน แต่อย่าลืมว่าสุขภาพของตัวเองก็สำคัญ ดังนั้นสินแพทย์ ลำลูกกาขอแนะนำว่า ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา เคี้ยวให้ละเอียด และมองหาเวลาพักผ่อนเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานบ้าง เพื่อสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง