รู้จักกับ “เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง” เนื้องอกของสมองที่พบบ่อย!

29 พ.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma) คือ เนื้องอกที่เกิดขึ้นในชั้นเยื่อหุ้มสมองและเยื่อหุ้มไขสันหลัง เป็นเนื้องอกที่พบบ่อยที่สุดในสมองที่เกิดจากเนื้อสมองเอง พบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบได้บ่อยขึ้นในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป



ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองมีอะไรบ้าง ?

ในปัจจุบันพบปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มโอกาสการเกิดเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง เช่น

  • การเป็นโรคทางพันธุกรรมท้าวแสนปม (Neurofibromatosis) ชนิดที่ 2
  • เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะมาก่อน
  • เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชาย
  • การสูบบุหรี่
  • การใช้ฮอร์โมนเพศหญิง

 

อาการของเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองเป็นอย่างไร ?

เนื้องอกเยื่อหุ้มสมองเป็นเนื้องอกที่มีการเติบโตค่อนข้างช้า ผู้ป่วยมักค่อย ๆ แสดงอาการทีละน้อย อาการจะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้องอก อาการที่อาจพบได้ เช่น

  • ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • แขนขาอ่อนแรง
  • ชาครึ่งซีก ชาใบหน้า
  • เห็นภาพซ้อน ตามัว
  • สูญเสียการรับกลิ่นหรือการได้ยิน
  • เวียนศีรษะ เดินเซ
  • หลงลืมง่าย
  • ซึม สับสน
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
  • ชักกระตุก

 

เนื้องอกเยื่อหุ้มสมองรักษาอย่างไร ?

การรักษาเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง จะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ชนิดของเนื้องอก ขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก และการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น

  • การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักสำหรับเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง โดยเฉพาะเนื้องอกในระดับที่ 1 หากสามารถผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกได้หมด การรักษามักได้ผลดี
  • การฉายรังสี ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือในผู้ป่วยที่ตรวจพบเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองระดับ 2 หรือ 3 หลังการผ่าตัดแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการฉายรังสีเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตและลดโอกาสการเป็นซ้ำของเนื้องอก
  • การให้ยาเคมีบำบัด ใช้สำหรับเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองระดับที่ 2, 3 และระดับที่ 1 ที่การผ่าตัดและการฉายรังสีไม่ได้ผล
SHARE