เบาหวาน หนึ่งในทางผ่านโรคหัวใจ

5 พ.ย. 2564 | เขียนโดย ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลสินแพทย์

รู้หรือไม่... โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้เป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดเร็วขึ้น จึงทำให้พบโรคหัวใจได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมองตีบมากขึ้น 2 – 3 เท่าของคนทั่วไป



รู้หรือไม่โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้เป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดเร็วขึ้น จึงทำให้พบโรคหัวใจได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมองตีบมากขึ้น 2 – 3 เท่าของคนทั่วไป

 

ทำไมโรคเบาหวานถึงเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ และหลอดเลือด

  1. ระดับน้ำตาลในเลือดหากสูงเกินไปจะเป็นพิษ

หากผู้ป่วยเบาหวานคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี น้ำตาลที่สูงเกินไปในเลือดจะทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เกิดคราบตะกรัน (Plaque) ในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง และขัดขวางการไหลของเลือด นอกจากนี้ ตะกรันเหล่านี้อาจเกิดการปริแตกฉับพลัน กระตุ้นให้เกิดเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดในทันทีโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว หรือ ไม่เคยมีอาการผิดปกติมาก่อน สรุปได้ว่า น้ำตาลที่สูงเกินไปจะทำลายหลอดเลือด จนเกิดภาวะ หลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ได้

 

อันตรายมากแค่ไหน ?

หลอดเลือด เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างร่างกาย และอวัยวะต่าง ๆ เพราะหลอดเลือดไปทุกส่วนของร่างกาย โดยจะมีขนาดเล็ก ใหญ่ แตกต่างกันออกไป แต่ผนังหลอดเลือดด้านในมีความต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ดังนั้น โรคอะไรก็ตามที่ส่งผลต่อหลอดเลือด ย่อมสามารถส่งผลให้เกิดความผิดปกติได้ต่อทุกอวัยวะของร่างกาย และเบาหวาน ก็คือหนึ่งในโรคดังกล่าว

  • หากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ หรือ แตกออก ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน หรือ ที่เราเรียกว่า หัวใจวายฉับพลัน (Heart Attack) ได้
  • หากหลอดเลือดบริเวณคอ หรือ ในสมองตีบ หรือ แตก ทำให้สมองขาดเลือด ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด
  • หากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ มีโอกาสเสี่ยงให้เกิดไตวายได้
  • หากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขาทั้งสองข้างตีบ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน (PAD : Peripheral Arterial Disease) ในกรณีแบบนี้จะส่งผลให้เวลาเดินแล้วมีอาการปวดบริเวณน่องได้
  • หากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศเสื่อม จะทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว (Erectile Dysfunction) ดังนั้น คุณผู้ชายที่มีอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ควรตรวจหาโรคหัวใจเพิ่มเติมด้วย เพราะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ สามารถพบภาวะนี้ได้ถึง 50%

จะเห็นได้ว่า นอกจากโรคหัวใจ และหลอดเลือดแล้ว เบาหวานยังส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ทั่วร่างกายของเรา

 

  1. ภาวะอ้วน (Obesity) และขาดการออกกำลังกาย

จริงอยู่ว่าเบาหวาน ไม่จำเป็นต้องอ้วน แต่ภาวะอ้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน และหากเป็นแล้วจะส่งผลให้คุมภาวะของโรคได้ยากขึ้น สิ่งที่ควรรู้คือ “อ้วน” ถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง คือ กลุ่มที่มีไขมันในร่างกายสูงเกินคนทั่วไป โดยเรามักใช้น้ำหนัก และส่วนสูง ในกระประเมิน เรียกว่า “ดัชนีมวลกาย” (BMI : Body Mass Index) คิดจากน้ำหนักหน่วยเป็นกิโลกรัม เป็นตัวตั้ง หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรสองครั้ง ค่า BMI ตั้งแต่ 25 ขึ้นไปถือว่าเป็นโรคอ้วน (เกณฑ์สำหรับคนเอเชีย) และหากมีค่าตั้งแต่ 40 ขึ้นไปถือว่า “อ้วนรุนแรงถึงแก่ชีวิต” (Morbid Obesity) นอกจากนี้เรายังอาจใช้การวัดรอบเอว บริเวณสะดือ โดยรอบเอวที่มากกว่า 80 เซนติเมตรในเพศหญิง หรือ 90 เซนติเมตรในเพศชาย ถือว่าเป็นโรคอ้วนออกแกนกลาง (Central Obesity)

 

หลายคนอาจมีคำถามว่า อ้วนแล้วจะเป็นอย่างไร ?

หากมีภาวะอ้วน ร่างกายจะตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยลง ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เหมาะสม และเกิดเป็นเบาหวานในที่สุด คำถามที่ควรถามตัวเองคือ “อ้วนได้อย่างไร ?” จะเกิดประโยชน์กับตัวเรามากกว่า ความอ้วนเกิดจากการเสียสมดุลของพลังงานที่เข้าสู่ร่างกาย มากกว่าพลังงานที่ร่างกายเผาผลาญ หรือ ถูกนำไปใช้ในแต่ละวัน พลังงานจึงสะสมทำให้น้ำหนักเพิ่มจึงเกิดภาวะอ้วนในที่สุด

 

อาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน โดยรวมไม่ต่างจากคนทั่วไป คือ

  •  แน่นหน้าอก อึดอัดตรงกลาง หรือ อาจเยื้องไปทางซ้าย ขวา ได้เล็กน้อย
  • มีอาการร้าวไปด้านหลัง สะบัก กราม แขน หรือลิ้นปี่ได้
  • มีเหงื่อแตก และใจสั่นร่วมด้วย

หากมีอาการเหล่านี้ควรมาปรึกษาแพทย์ แต่ผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะผู้หญิง ที่อายุเยอะ และมีภาวะอ้วน ส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่ชัดเจน บางคนอาจไม่มีอาการข้างต้นที่กล่าวมาเลย ผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดบางรายอาจแค่รู้สึกเหนื่อย หายใจไม่ทันเวลาออกแรง หรือ จุกลิ้นปี่เล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาที่ช้าเกินไป จนเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้เสียชีวิตในที่สุด

 

การป้องกัน และดูแลตัวเองที่เหมาะสม

  • ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามคำแนะนำของแพทย์
  • ควบคุมระดับไขมัน โดยเฉพาะ LDL ให้อยู่ในเกณฑ์ โดยเป้าหมาย LDL ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดหน้าท้อง คุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
  • คุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง ซึ่งมักเป็นอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง
  • ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษา และป้องกันภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่ยังไม่เป็นโรค

 

 

เบาหวาน หนึ่งในทางผ่านโรคหัวใจ

นักกีฬาจะเก่งได้ ต้องมีโค้ชคอยประเมิน และแนะนำ ไม่ต่างจากสุขภาพของเราเช่นกัน คุณมีโค้ชช่วยดูแลสุขภาพให้กับตัวเองหรือยัง ?

ตรวจสอบรายละเอียดโปรแกรมตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเบื้องต้น

พร้อมโปรโมชันพิเศษ คลิก https://bit.ly/3DmNly3

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์หัวใจ หรือ ศูนย์หัวใจล้มเหลว ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

 

SHARE