รู้ทัน ป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

25 มี.ค. 2567 | เขียนโดย

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถป้องกันได้หากรู้จักระมัดระวังและมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ควรให้คู่นอนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

1.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากอะไร?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อชนิดต่างๆ โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศผ่านทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางปากก็สามารถติดเชื้อได้ ทั้งนี้ แต่ละโรคก็เกิดจากเชื้อ รวมถึงมีลักษณะและอาการของโรคที่แตกต่างกัน

 

2.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) มีโรคอะไรบ้าง ?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นการนิยามลักษณะการติดเชื้อที่พบได้จากการมีเพศสัมพันธ์ แต่บางโรคก็สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้หลายวิธีไม่ได้จำกัดแค่การมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียว ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยมีดังนี้

หนองใน (Gonorrhea)

หนองในเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถรับเชื้อได้ผ่านทางอวัยวะเพศ ทวารหนักและปาก ผู้ที่ติดเชื้อเพศชายมักมีอาการปวดแสบเมื่อปัสสาวะ ในขณะที่เพศหญิงมักมีอาการเดียวกันแต่ไม่รุนแรงเท่าเพศชาย ผู้ป่วยโรคหนองบางรายแม้จะติดเชื้อแต่ก็ไม่แสดงอาการ และโรคนี้สามารถส่งต่อเชื้อแบคทีเรียไปยังทารกระหว่างการคลอดบุตรได้

หนองในเทียม (Chlamydia)

หนองในเทียมเกิดจากการติดเชื้อคลามัยเดีย (Chlamydia trachomatis) อาการใกล้เคียงกับโรคหนองในสามารถติดต่อได้ทั้งชายและหญิง ผ่านทางช่องคลอดและทวารหนัก ในเพศหญิงสามารถส่งต่อเชื้อไวรัสไปยังทารกได้ระหว่างการคลอดบุตร

เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes)

โรคเริมเป็นผิวหนัง มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HSV (Herpes Simplex Virus) สามารถติดเชื้อได้หลายทางรวมถึงผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางช่องคลอดและทวารหนัก โรคนี้มักจะทำให้เกิดตุ่มที่อวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งไวรัสสามารถแพร่กระจายได้แม้ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ และโรคนี้สามารถส่งต่อเชื้อไวแบคทีเรียไปยังทารกระหว่างการคลอดบุตรได้

การติดเชื้อ HIV

HIV เป็นเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย สามารถทำให้เกิดภาวะคุ้มกันบกพร่องหรือ AIDS ซึ่งอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา เชื้อ HIV สามารถแพร่ไปยังทารกได้ขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตร

การติดเชื้อ HPV

เชื้อ HPV เป็นกลุ่มเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งมีประมาณ 40 ชนิดที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บางชนิดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ และบางชนิดเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง

โลน (Pubic lice)

โลนเป็นปรสิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณหัวหน่าวและอวัยวะเพศ บางครั้งก็พบในขนส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขนขา รักแร้ หนวด เครา ขนตา คิ้ว เป็นต้น ตัวโลนอาศัยอยู่บนร่างกายมนุษย์ด้วยการดูดเลือดมนุษย์เป็นอาหาร และเนื่องจากโลนไม่สามารถกระโดดหรือบินได้จึงแพร่กระจายด้วยการสัมผัสโดยตรง หรือผ่านผ้าที่ใช้ร่วมกันเช่นผ้าเช็ดตัวหรือผ้าปูเตียง

ซิฟิลิส (Syphilis)

ซิฟิลิสเป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย สามารถติดเชื้อได้ทาง บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปากและริมฝีปาก ในเพศหญิงสามารถส่งต่อเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้ ซิฟิลิสจะทำให้เกิดแผลผื่นบนผิวหนัง ซึ่งแผลผื่นที่เกิดจากซิฟิลิสจะทำผู้ป่วยรับและแพร่เชื้อ HIV ได้ง่ายขึ้น ในบางกรณีซิฟิลิสสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis)

พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis หรือ Trich) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่โรคนี้มักไม่แสดงอาการ แต่ผู้ติดเชื้อบางรายอาจจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 5-28 วัน โรคนี้พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่พบบ่อยในเพศหญิง และมักมีอาการชัดเจนกว่าเพศชาย

ไวรัสตับอักเสบบี

โรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคตับที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้

 

3.อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นอย่างไร ?

อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรค ซึ่งอาการต่างๆ อาจเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศอย่างเดียว หรืออวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ทั้งหมด โดยเราสามารถสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • มีตกขาวผิดปกติ หรือตกขาวเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ
  • ตกขาวมีกลิ่น มีอาการคัน หรือระคายเคือง
  • มีตุ่ม มีผื่น หรือแผล บริเวณอวัยวะเพศ
  • อาจมีน้ำเหลืองหรือน้ำหนอง ไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศชาย
  • ปัสสาวะแสบขัด
  • มีอาการเจ็บแสบ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • มีอาการระคายเคืองที่อวัยวะเพศ

4.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ป้องกันได้อย่างไร ?

  1. การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  2. การมีคู่นอนคนเดียว
  3. การเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้และหนองในเทียมปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย
  4. การตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
  5. การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี
SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ