ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด…อันตรายถึงชีวิตถ้าไม่รีบแก้ไข !!!

3 พ.ค. 2565 | เขียนโดย ศูนย์โรคระบบทางเดินหายใจและปอด ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์

ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax) คือภาวะที่มีลมรั่วออกจากถุงลมเข้าไปอยู่ในช่องเยื่อหุ้มปอด ลมจะไปเบียดเนื้อปอดทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดผิดปกติ เกิดภาวะขาดออกซิเจน และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้



ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดเกิดจากอะไร ?

  • การได้รับอุบัติเหตุบริเวณทรวงอก เช่น ถูกแทง ถูกยิง ตกจากที่สูง รถชน
  • โรคปอดหรือความผิดปกติของปอดทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง เช่น การอักเสบติดเชื้อในปอด วัณโรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคมะเร็งปอด ผู้ป่วยโรคปอดรุนแรงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก็มีโอกาสเกิดภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดได้
  • คนที่แข็งแรงดีบางรายอาจเกิดภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เชื่อว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีความผิดปกติของถุงลมปอดมาแต่กำเนิด โดยมักพบในผู้ป่วยเพศชาย อายุประมาณ 20-40 ปี ที่มีรูปร่างผอมสูง

อาการของลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดเป็นอย่างไร ?

อาการของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับปริมาณลมที่รั่วและโรคที่เป็นสาเหตุ โดยอาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอกข้างที่มีภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด
  • หายใจลำบาก หอบเหนี่อย
  • ไอแห้งๆ
  • ใจเต้นเร็ว
  • เหงื่อออก ตัวเย็น หน้ามืด เป็นลม
  • ความดันโลหิตต่ำ จนอาจเกิดภาวะช็อคได้

วิธีรักษาภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด

 

การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด ดังนี้

  • การรอให้ลมที่รั่วถูกดูดซึมออกไปเอง โดยการนอนพัก งดออกแรง ให้ออกซิเจน และเอ็กซเรย์ปอดเป็นระยะเพื่อดูว่าลมที่รั่วลดลงจนปอดกลับมาขยายตัวปกติ วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ลมรั่วในปริมาณไม่มาก ผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยค่อนข้างดี
  • การใช้เข็มเจาะหรือสอดท่อเข้าไปในช่องเยื่อหุ้มปอด เพื่อระบายลมที่รั่วออกมาภายนอก ท่อจะถูกสอดไว้จนลมหยุดรั่วและปอดกลับมาขยายตัวได้ตามปกติ ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาฉีดสารบางชนิดเข้าไปในช่องเยื่อหุ้มปอด เพื่อทำให้เยื่อหุ้มปอดทั้ง 2 ชั้นเชื่อมติดกัน ทำให้อากาศที่ค้างอยู่ระหว่างช่องเยื่อหุ้มปอดหมดไป มักใช้ในผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำหรือมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก
  • การผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วลมรั่วไม่สามารถปิดได้หรือกลับมาเป็นซ้ำอีก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดตัดถุงลมปอดส่วนที่มีปัญหาออก และเย็บซ่อมเยื่อหุ้มปอดเพื่อปิดรอยรั่ว

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการศูนย์โรคระบบทางเดินหายใจและปอด ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

เขียนโดย : ศูนย์โรคระบบทางเดินหายใจและปอด โรงพยาบาลสินแพทย์

 

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์

โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ รามอินทรา

SHARE