การทำเด็กหลอดแก้ว ( In-Vitro Fertilization : IVF )

22 พ.ค. 2563 | เขียนโดย Smart Center ศูนย์ผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

การทำเด็กหลอดแก้ว ( In-Vitro Fertilization : IVF )



การทำเด็กหลอดแก้ว ( In-Vitro Fertilization : IVF )

 

จะคล้ายกับวิธีการทำกิ๊ฟท์มาก ต่างกันคือ แพทย์จะนำเอาไข่และเชื้ออสุจิมาเพาะเลี้ยงในหลอดทดลอง จนกระทั่งเกิดการปฏิสนธิ แล้วเลี้ยงต่อในห้องปฏิบัติการจนเป็นตัวอ่อน อีกประมาณ 2-3 วัน ซึ่่งจะได้ตัวอ่อน ในระยะ 4-8 เซลล์ หรือ เลี้ยงจนถึงระยะตัวอ่อนวันที่ 5 หรือที่เรียกว่า ระยะ บลาสโตซีสท์ (Blastocyst) แล้วจึงนำเอาตัวอ่อนย้ายกลับเข้าไปฝังในโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตและฝังตัวต่อไป ในการเตรียมตัวอ่อนนี้ อาจจะมีตัวอ่อนที่เหลือ และแข็งแรงก็สามารถทำการแช่แข็งและเก็บไว้ใช้ในรอบการรักษาต่อไปได้

 

การทำเด็กหลอดแก้ว ( In-Vitro Fertilization : IVF ) เหมาะสำหรับ

  • คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีความผิดปกติของท่อนำไข่ทั้งสองข้าง
  • มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • เชื้ออสุจิของฝ่ายชายมีจำนวนน้อย
  • มีภาวะมีบุตรยากไม่ทราบสาเหตุ

 

ขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้ว ( In-Vitro Fertilization : IVF )

  • กระตุ้นรังไข่ด้วยฮอร์โมน ให้เกิดไข่หลายใบ
  • ติดตามการเจริญของถุงไข่ด้วยอัลตราซาวด์ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้ไข่สุก และรอให้ไข่เจริญเต็มที่ ซึ่งไข่จะสุกเต็มที่หลังฉีดยา ประมาณ 34-36 ชั่วโมง
  • เก็บไข่ โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ที่มีหัวตรวจสอบทางช่องคลอดแล้วใช้เข็มขนาดเล็กดูดไข่ผ่านทางช่องคลอดในขณะที่คนไข้ได้ยาระงับความรู้สึก
  • เตรียมน้ำเชื้ออสุจิในห้องปฏิบัติการ โดยคัดเลือกเอาเชื้ออสุจิตัวที่แข็งแรง
  • นำไข่และเชื้ออสุจิมารวมกันในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ ภายในห้องปฏิบัติการ
  • ตรวจสอบการปฏิสนธิ เพื่อพิจารณาเลี้ยงเป็นตัวอ่อนเพื่อย้ายเข้าโพรงมดลูกหรือแช่แข็งต่อไป

 

อาจต้องใช้เทคโนโลยีการรักษาเพิ่มเติม

  • การรักาาอาการหรือภาวะแทรกซ้อน
  • การเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกในการรับไข่บริจาค
  • การรับอสุจิบริจาค
  • การตรวจคัดกรองโครโมโซมผิดปกติ หรือ โรคทางพันธุกรรม
  • การเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสดตซีสท์ (Blastocyst Culture)
  • บริการแช่แข็งตัวอ่อน (Embryo Freezing)

 

อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีการต่างๆ มีมากน้อยเพียงใด

 

ความสำเร็จในแต่ละรอบของการรักษาภาวะมีบุตรยากจะแตกต่างกัน ตามวิธีการ ดังนี้

 

  1. การคัดเลือกเชื้ออสุจิ สำหรับฉีดผสมเทียม (IUI) อัตราความสำเร็จประมาณ 10-15 %
  2. การทำเด็กหลอดแก้ว และ อิ๊กซี่ อัตราความสำเร็จประมาณ 30-40%

 

ความสำเร็จในการตั้งครรภ์นอกจากจะขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีหรือ วิธีการแล้วความร่วมมือกันของสามีภรรยาในการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ให้ความร่วมมือในการรับการรักษาในขั้นตอนต่างๆ ร่วมกัน มาเป็นเพื่อนภรรยาทุกครั้ง ที่แพทย์นัดเท่าที่จะทำได้ อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น

 

ปัญหา หรือ ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง

 

  • รอบของการรักษาถูกยกเลิกไป เนื่องจากได้ถุงไข่จำนวนน้อยเกินไป หรือ มากเกินไป จนทำให้รังไข่บวมโต มีน้ำในช่องท้อง หรือ ช่องปอด
  • ไข่ที่เก็บได้ไม่มีการปฏิสินธิ มีการติดเชื้อจากการเก็บไข่ หรือ ขั้นตอนการใส่ตัวอ่อน
  • การตั้งครรภ์แฝด ประมาณ 15-20%
  • การแท้ง ซึ่งมีโอกาสแท้งได้สูงกว่าคนทั่วไปบ้างเล็กน้อย

 

ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หลังได้รับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

 

  • ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
  • ไม่ควรยกของหนัก และ ออกกำลังกายหักโหม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ลดความวิตกกังวล ความเครียด
  • รับประทานยา และ ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
  • หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์

 

Smart Center ศูนย์ผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

 

SHARE