เช็กความแข็งแรงของหัวใจ ป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย Exercise Stress Test
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือ Exercise Stress Test เป็นการตรวจวินิจฉัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการประเมินสุขภาพหัวใจ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อยง่าย โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม ขอนำเสนอบริการตรวจ Exercise Stress Test ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ท่านมั่นใจในผลการตรวจที่แม่นยำและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยในวันนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการอ่านผล ประโยชน์ของการทำ EST ข้อควรระวัง รวมถึงการเตรียมตัวก่อนและหลังการตรวจ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด
Exercise Stress Test คืออะไร และวัดผลได้เมื่อใด
Exercise Stress Test หรือการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย คือการตรวจเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย โดยผู้เข้ารับการตรวจจะออกกำลังกายบนสายพานหรือจักรยานอยู่กับที่ โดยมีการเพิ่มความเร็วและความชันขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันก็มีการติดตามการทำงานของหัวใจผ่านเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อดูว่าหัวใจตอบสนองต่อการออกกำลังกายได้ดีแค่ไหน และมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือไม่ ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจบางชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่มีอาการตีบมากกว่า 70% หรือสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
การแปลผล Exercise Stress Test
การแปลผล Exercise Stress Test จะถูกตีความโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาการของผู้ป่วยทั้งตอนออกกำลังกายและตอนพัก ผลการตรวจจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจได้อย่างแม่นยำและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม รวมถึงประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยจะทราบผลได้ภายในวันหลังจากที่ตรวจ Exercise Stress Test เลย
ใครบ้างที่ควรตรวจ Exercise Stress Test
กลุ่มคนที่ควรตรวจ Exercise Stress Test มีดังนี้
บุคคลที่มีอาการหอบเหนื่อยง่ายหรือเจ็บหน้าอกขณะออกแรง
หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการหอบเหนื่อยง่าย และคนเจ็บหน้าอก มักจะเจ็บขณะออกกำลังกายหรือเมื่อเกิดความเครียด ซึ่งก็เป็นหนึ่งในสัญญาณของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
กลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคอื่น ๆ
โรคเบาหวาน โรคความดัน ไขมันในเลือดสูง คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้มากกว่าคนปกติทั่วไป
นอกจากนี้คนที่อายุ 40 ขึ้นไป คนในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจ คนที่ทานอาหารรสจัด สูบบุหรี่จัด หรือแม้กระทั่งคนพักผ่อนไม่เพียงพอ จนเกิดความอ่อนเพลียสะสมก็ควรตรวจ Exercise Stress Test เช่นเดียวกัน
ทำ Exercise Stress Test มีประโยชน์ต่อหัวใจอย่างไร
ทำ Exercise Stress Test มีประโยชน์ต่อหัวใจ ดังนี้
- วินิจฉัยอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเป็นโรคหัวใจ
- วินิจฉัยและประเมินความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่
- ประเมินผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ว่าต้องมีการตรวจเพิ่ม หรือรักษาผ่านการทำบอลลูนหรือไม่
- ประเมินอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ประเมินประสิทธิภาพหัวใจในขณะที่ออกกำลังกายทั้งในคนทั่วไป และผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
ข้อควรระวังในการทำ Exercise Stress Test
ข้อควรระวังในการทำ Exercise Stress Test เราจะไม่แนะนำให้ทำถ้ามีลักษณะอาการดังนี้
- มีปัญหาเรื่องข้อเข่า มีปัญหาการเดิน เป็นโรคปอดที่เหนื่อยง่ายตอนออกกำลังกาย
- ความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มม.ปรอท ในตัวบน และ 110 มม.ปรอท ในตัวล่าง
- อาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน อย่างไตวาย และไทรอยด์เป็นพิษ
- ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ชนิด Unstable Angina
- มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจนไม่สามารถควบคุมได้
- มีภาวะหัวใจล้มเหลว ลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อ เส้นเลือดปอดอุดตัน และเส้นเลือดแดงเออร์ตาฉีกขาดเฉียบพลัน
การเตรียมตัวก่อน ระหว่าง และหลังเข้ารับการตรวจ Exercise Stress Test
การเตรียมตัวก่อน ระหว่าง และหลังเข้ารับการตรวจ Exercise Stress Test ข้อสำคัญที่ควรทำแต่ละช่วงการทดสอบ มีดังนี้
ก่อนเข้ารับการตรวจ Exercise Stress Test
- งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
- งดออกกำลังกายหนักก่อนทำการตรวจ
- บอกแพทย์เกี่ยวกับยาที่กำลังรับประทานอยู่ทั้งหมด
ระหว่างเข้ารับการตรวจ Exercise Stress Test
- ทำตามคำแนะนำของแพทย์และเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
- หากรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจไม่ทัน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ให้แจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทันที
หลังเข้ารับการตรวจ Exercise Stress Test
- สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ในกรณีที่ไม่เกิดผลข้างเคียง
- แพทย์จะแจ้งผลการตรวจให้ทราบภายในระยะเวลาหนึ่ง
นอกจาก Exercise Stress Test มีวิธีไหนตรวจได้อีก
นอกจากการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) แล้ว ยังมีวิธีการตรวจอื่นๆ ที่สามารถใช้ประเมินสุขภาพหัวใจได้อีกมากมาย โดยแต่ละวิธีจะมีข้อดี ข้อเสีย และเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป ดังนี้
Exercise stress echocardiogram
Exercise stress echocardiogram เป็นการตรวจที่ผสมผสานระหว่างการออกกำลังกายกับการตรวจคลื่นเสียงหัวใจ (Echocardiogram) เพื่อประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจขณะออกกำลังกาย วิธีนี้ช่วยให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนเลือดในหัวใจได้ชัดเจนขึ้น และสามารถตรวจพบความผิดปกติของลิ้นหัวใจหรือความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจได้
Nuclear stress test
Nuclear stress test เป็นการตรวจที่ใช้รังสีฉีดเข้าไปในร่างกาย จากนั้นให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย เพื่อประเมินการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ วิธีนี้มีความแม่นยำสูงในการตรวจพบหลอดเลือดหัวใจตีบ
Cardiac rehabilitation stress test
Cardiac rehabilitation stress test เป็นการตรวจที่ใช้ประเมินความสามารถในการออกกำลังกายของผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาโรคหัวใจมาแล้ว เพื่อวางแผนโปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจที่เหมาะสม
Exercise Stress Test ที่สินแพทย์ นครปฐม ประเมินโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
มั่นใจในสุขภาพหัวใจ ด้วย Exercise Stress Test ที่สินแพทย์ นครปฐม เราพร้อมดูแลสุขภาพหัวใจของคุณด้วยบริการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือ Exercise Stress Test ที่ได้มาตรฐาน โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจที่มีประสบการณ์สูง ช่วยให้คุณตรวจพบโรคหัวใจในระยะเริ่มต้น ประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจ วางแผนการดูแลสุขภาพหัวใจ และช่วยเพิ่มความมั่นใจในสุขภาพ ผลการตรวจจะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าหัวใจของคุณแข็งแรง และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข