การเจาะน้ำคร่ำเพื่อการวินิจฉัยก่อนคลอด

22 เม.ย. 2563 | เขียนโดย ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

พ่อแม่ทุกคน ย่อมคาดหวังว่าบุตรของตนจะคลอดออกมาสมบูรณ์และแข็งแรงการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอรวมถึงการตรวจอัลตร้าซาวด์ทารกในครรภ์ จะช่วยให้แพทย์สามารถค้นพบและแก้ไขภาวะผิดปกติส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทั้งกับแม่และทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามถ้าความผิดปกติเกิดขึ้นกับหน่วยพันธุกรรม (ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า “โครโมโซม”) ของทารกแล้ว การฝากครรภ์และการตรวจอัลตร้าซาวด์อาจไม่พบความผิดปกติดังกล่าวดังนั้น การเจาะน้ำคร่ำเพื่อการวินิจฉัยก่อนคลอด เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์ เช่น โรคดาวน์ซินโดม ซึ่งทำให้ทารกมีความพิการแต่กำเนิดและปัญญาอ่อน

แม่ที่ควรได้รับการเจาะน้ำคร่ำ ได้แก่

1.แม่ที่อายุมาก หมายถึง แม่ที่ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป (นับจนถึงวันกำหนดคลอด) จะมีโอกาสเสี่ยงที่มีบุตรเป็น “กลุ่มอาการดาวน์” (Down syndrome) มากกว่าแม่ที่ตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่านี้

อายุ – มารดา น้อยกว่า 35 ปี  ความเสี่ยง (ร้อยละ) 0.25
อายุ – มารดา 35 ปี  ความเสี่ยง (ร้อยละ) o.5
อายุ – มารดา 40 ปี  ความเสี่ยง (ร้อยละ) 1.5
อายุ – มารดา 45 ปี   ความเสี่ยง (ร้อยละ) 5

2. แม่ที่เคยคลอดบุตรที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ เพราะว่าโอกาสเกิดซ้ำได้ในครรภ์ต่อมา
3. แม่ที่เคยคลอดพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะว่ามีโอกาสเกิดซ้ำได้ในครรภ์ต่อมา ถ้าสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครโมโซม
4. มีประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว เพราะว่าอาจถ่ายทอดความผิดปกติจากพ่อแม่ถึงบุตรหลานได้
อายุครรภ์ที่ตรวจ

*อายุครรภ์ที่เหมาะสมสำหรับตรวจน้ำคร่ำคือ ประมาณ 16 – 20 สัปดาห์ (4 เดือนเศษ)ถ้าอายุครรภ์น้อยกว่านี้การเพาะเลี้ยงเซลล์มักจะล้มเหลว*

วิธีการตรวจ

การเจาะน้ำคร่ำจะกระทำโดยสูติแพทย์ที่ชำนาญ และภายใต้สภาพปราศจากเชื้อ ในขั้นแรกแพทย์จะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อยืนยันอายุครรภ์ ดูท่าของทารกตำแหน่งที่รกเกาะ และเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการเจาะที่ปลอดภัยสำหรับแม่และทารก ต่อจากนั้นแพทย์จะทาน้ำยาฆ่าเชื่อบริเวณหน้าท้อง และใช้เข็มแทงผ่านผนังหน้าท้องและผนังมดลูกจนถึงแอ่งน้ำคร่ำที่เลือกไว้ ซึ่งขณะเจาะแม่จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยคล้ายกับเวลาเจาะเลือด แพทย์จะดูดน้ำคร่ำออกมาประมาณ 4 ช้อนชา (20 ซีซี) คิดเป็นเพียง 5 % ของปริมาณน้ำคร่ำที่มีอยู่ เมื่อเสร็จแล้วจะให้นั่งพักประมาณ 30 นาที จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้

น้ำคร่ำที่ดูดออกมาจะส่งไปเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการจากนั้นนำมาศึกษารูปร่างและจำนวนของโครโมโซม โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3 สัปดาห์ ผลที่ได้มีความแม่นยำสูงถึง 99 %

ภาวะแทรกซ้อน

เกิดขึ้นเล็กน้อย เช่น ถุงน้ำคร่ำรั่ว การติดเชื้อ ก้อนเลือดคั่ง เกิดอันตรายต่อทารก 0.1% เป็นต้น ส่วนมากจะเกิดขึ้นภายใน 24 – 48 ชั่งโมง หลังการเจาะ การแท้งบุตรจากการเจาะน้ำคร่ำเกิดขึ้นได้ 0.3 -0.5% อันตรายต่อมารดา เลือดออกทางช่องคลอดเกิดขึ้นได้ 2 %
อย่างไรก็ตามขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเซลล์มีความซับซ้อน จึงมีโอกาสที่จะล้มเหลวได้บ้าง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะต้องทำการเจาะตรวจซ้ำ
กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) เป็นความผิดปกติทางโครโมโซมที่พบบ่อยที่สุด และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคพันธุกรรมที่ทำให้ปัญญาอ่อนโดยผู้ป่วยจะมีไอคิวเฉลี่ย 25 – 50 (ต่ำปานกลางถึงต่ำมาก) มีศีรษะค่อนข้างเล็กแบน และตาเฉียงขึ้น ดั้งจมูกแบน ปากอ้าและลิ้นมักจะยื่นออกมา นอกจากนี้อาจมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วยที่พบบ่อยได้แก่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ทางเดินอาหารอุดตัน การทำงานของต่อมธัยรอยด์บกพร่องต้อกระจกตา เป็นต้น

ขั้นตอนในการรับบริการ

1. ปรึกษากับสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อรับทราบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ ประโยชน์ที่จะได้รับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่าย โดยท่านและสามีมีสิทธิ์ตัดสินใจเองที่จะรับหรือไม่รับการตรวจ
2. ถ้าต้องการเลื่อนนัด ขอความกรุณาแจ้งล่วงหน้าที่เคาเตอร์พยาบาล แผนกสูตินรีเวช

การปฏิบัติตนภายหลังการเจาะตรวจน้ำคร่ำ

1. นั่งพัก 30 – 60 นาที หลังเจาะน้ำคร่ำ ถ้าไม่มีอาการผิดปกติ แพทย์จะอนุญาตให้กลับ บ้านได้
2. ห้ามอาบน้ำภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังเจาะน้ำคร่ำ
3. ถ้าปวดแผลบริเวณที่เจาะสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้
4. หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้อง เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆหรือเดินทางไกล 2 -3 วัน
5. งดมีเพศสัมพันธ์ 1 สัปดาห์
6. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด น้ำเดินมีไข้ หรือปวดท้องมาก ให้รับมาพบแพทย์ทันที

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์สุขภาพสตรี แผนกสูตินรีเวช
ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์  

SHARE