ในช่วงฤดูฝนที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้มีผู้ป่วยเป็นไข้หวัด หรือติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่เจอบ่อยหลังผู้ป่วยหายจากไข้หวัดแล้วคือ อาการไอเรื้อรังที่ไม่ยอมหายสักที ผู้ป่วยบางรายไอมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน อาการไอหลังเป็นหวัดนี้เกิดจากอะไร และเราจะมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีอาการดังกล่าว
ไอหลังเป็นหวัดคืออะไร ?
ภาวะไอหลังการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน หรือ Post-infectious cough คือ อาการไอหลังผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเป็นได้ทั้งจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไรโนไวรัส ไวรัสอาร์เอสวี โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อนำมาก่อนภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากการติดเชื้อดีขึ้น อาการไข้ ปวดเมื่อย เจ็บคอ ต่าง ๆ หายไปแล้ว แต่อาการไอยังคงมีอยู่ต่อเนื่องอีกหลายสัปดาห์ โดยที่เอกซเรย์ปอดปกติไม่พบรอยโรคใด ๆ
ไอหลังเป็นหวัดเกิดจากอะไร ?
เชื่อว่าสาเหตุของภาวะนี้มาจากการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจที่ยังไม่ดีขึ้น ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น (Bronchial Hyperresponsiveness) มากขึ้น ร่วมกับการมีภาวะน้ำมูกไหลลงคอ (Postnasal Drip) ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกคันคอ ระคายคอ อยากไอตลอดเวลา
ไอหลังเป็นหวัดรักษาอย่างไร ?
ผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการไอ เช่น อาหารรสจัด น้ำเย็น หลีกเลี่ยงการใช้เสียงมาก ๆ รักษาร่างกายให้อบอุ่น ส่วนใหญ่อาการมักดีขึ้น และหายไอได้เองภายใน 2 เดือน แพทย์อาจให้การรักษาเพิ่มเติมในผู้ป่วยที่มีอาการมาก ดังนี้
- การใช้ยาลดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น การใช้สเตียรอยด์ชนิดรับประทานในช่วงสั้น ๆ
- การใช้ยาบรรเทาอาการไอ ในกรณีที่ผู้ป่วยไอมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน
- การใช้ยาต้านฮิสตามีน การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดน้ำมูกไหลลงคอ
- รักษาโรคร่วมอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการไอ เช่น กรดไหลย้อน ไซนัสอักเสบติดเชื้อ
ดูแลตนเองอย่างไร ไม่ให้ไอเรื้อรังหลังเป็นหวัด ?
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดสูบบุหรี่
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี