เตือนภัย…ใครบ้างเสี่ยงหัวใจขาดเลือด

17 เม.ย. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ภาวะหัวใจขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดการอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจนอาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ 



อาการของภาวะหัวใจขาดเลือดมีอะไรบ้าง ?

  • อาการเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกแรง ลักษณะแน่นหรือเจ็บลึก ๆ บริเวณตรงกลางหรือด้านซ้ายของหน้าอก อาจร้าวไปที่ไหล่ คอ ขากรรไกร แขนซ้าย พักแล้วอาการเจ็บหน้าอกอาจดีขึ้น
  • เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก
  • เหงื่อแตก ใจสั่น
  • หน้ามืด เป็นลม
  • คลื่นไส้ อาเจียน

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ?

ภาวะหัวใจขาดเลือดเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยง โดยคนที่มีปัจจัยเสี่ยงมากจะมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้มากกว่าคนที่ไม่มีหรือมีปัจจัยเสี่ยงน้อยกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ

  • เพศชายมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดมากกว่าเพศหญิง
  • อายุมากกว่า 45 ปี ในเพศชาย และมากกว่า 55 ปีในเพศหญิง
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • ภาวะอ้วนลงพุง
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • การสูบบุหรี่
  • ความเครียด
  • มีประวัติพันธุกรรมภาวะหัวใจขาดเลือดในครอบครัว

ตรวจวินิจฉัยอย่างไรเมื่อสงสัยภาวะหัวใจขาดเลือด ?

เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยภาวะหัวใจขาดเลือด แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการเพื่อตรวจวินิจฉัยต่าง ๆ ในผู้ป่วยแต่ละรายตามอาการ ความรุนแรง ความเสี่ยง ระยะเวลาของการเกิดโรค โดยวิธีการตรวจที่สำคัญมีดังนี้

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดจากแพทย์
  • การตรวจเลือดดูระดับ cardiac enzyme สะท้อนให้เห็นถึงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดไปเลี้ยง และการตรวจเลือดเพื่อดูปัจจัยเสี่ยงร่วมอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทั้งในขณะพัก และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลัง (Exercise Stress Test)
  • การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) เพื่อดูขนาด รูปร่าง ของหัวใจ ลิ้นหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่ วัดการบีบตัวของหัวใจ วัดความเร็วและแรงดันที่จุดต่าง ๆ ของหัวใจ
  • การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) เพื่อดูการตีบของหลอดเลือดหัวใจ โดยการสอดสายสวนขนาดเล็กเข้าทางหลอดเลือดแดงให้ปลายสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจที่ต้องการแล้วฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดพร้อมทั้งทำการบันทึกภาพเพื่อดูการตีบแคบของหลอดเลือดหัวใจ
  • การตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจ (Cardiac MRI) ช่วยให้เห็นโครงสร้างของหัวใจ ลักษณะกล้ามเนื้อหัวใจ และช่วยประเมินการทำงานของหลอดเลือด

 

ภาวะหัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่อันตราย ถ้าไม่สามารถรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เบื้องต้น อาจมีอาการรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เราจึงควารสังเกตอาการผิดปกติอยู่เสมอ หากมีสัญญาณที่บ่งชี้หรือมีปัจจัยเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือด ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

SHARE