โรคไตวาย

29 ก.ย. 2563 | เขียนโดย ศูนย์อายุรกรรมโรคไต ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรคไตวาย แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง ซึ่งแนวทางในการรักษาจะแตกต่างกันไป ดังนี้ 1.โรคไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure) 2.โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease)



โรคไตวาย แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง ซึ่งแนวทางในการรักษาจะแตกต่างกันไป ดังนี้

  1. โรคไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure)

เป็นภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไตอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 1 – 2 วัน โดยมีสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • มีการสูญเสียสารน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง เช่น มีภาวะท้องเสียท้องเดิน จนทำให้ระดับความดันโลหิตต่ำ และอาจถึงภาวะช็อกได้ หากไม่ได้รับการรักษาโดยการให้สารน้ำทดแทนอย่างรวดเร็วและทันเวลา จึงทำให้มีไตวายเฉียบพลันได้ โดยจะพบว่าผู้ป่วยมีปริมาณปัสสาวะน้อยกว่า 400 ซีซี/วัน หรือบางรายอาจไม่มีปัสสาวะออกเลยก็ได้
  • มีการสูญเสียเลือดในปริมาณมาก เช่น ตกเลือดจากการคลอดบุตรที่ผิดปกติ เสียเลือดจากแผลในกระเพาะอาหารที่ไม่ได้รับการรักษา จนทำให้อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดในปริมาณมาก แล้วไม่ได้รับเลือดทดแทนทันเวลา จนเกิดภาวะช็อค มีผลทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ เนื่องจากไตขาดเลือดที่มาเลี้ยงอย่างเพียงพอ
  • ได้รับสารที่มีพิษต่อไต อาจเป็นยาแก้ปวดบางชนิด สารพาราไธออน ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้า หรือยากำจัดวัชพืช ยาแก้อักเสบที่ใช้ฉีดปริมาณมากติดต่อกัน นานเกิน 1 สัปดาห์ขึ้นไป ถูกแมลงมีพิษกัดต่อย เช่น ฝูงต่อ ต่อย หรือติดเชื้อมาลาเรีย
  • มีการติดเชื้อที่รุนแรงจนเกิดภาวะช็อก ซึ่งถ้าแก้ไขหรือรักษา สาเหตุการอักเสบติดเชื้อไม่ได้หรือช้าเกินไป ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ เช่นกัน

         

การรักษาภาวะไตวายเฉียบพลัน

การที่ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่มีของเสียคั่งในร่างกาย มีเกลือแร่บางอย่างมากเกินจากการที่ร่างกายไม่สามารถขับออกตามปกติเช่น โพแทสเซียมสูง มากเกินระดับความปลอดภัย มีผลกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ในภาวะนี้หากได้รับการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) หรือล้าง ของเสียออกทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) เป็นการชั่วคราวจนกว่าสาเหตุของไตวายเฉียบพลันจะได้รับการรักษาดีขึ้น ไตจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาทำงานเหมือนปกติ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์

 

  1. โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease)

เป็นภาวะที่มีการทำลายเนื้อไตอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง ใช้ระยะเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี เป็นการทำลายที่ถาวร จนไตไม่สามารถฟื้นกลับมาทำหน้าที่ปกติแบบไตวายเฉียบพลัน โรคไตเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทางเดินปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น จนกระทั่งไตสูญเสียการทำงานไปมากกว่า 50% จึงเริ่มแสดงอาการของโรคไตเรื้อรัง ทีละเล็กทีละน้อย หรือเมื่อไตเสียหน้าที่การทำงานเกือบหมด อาการจะรุนแรงมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทนอยู่ได้ เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่อ อาหาร คันตามตัว บวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว

ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว ถูกต้องเหมาะสม โดย การซักประวัติหาสาเหตุ ประกอบกับการตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ดูหน้าที่ไตและภาพรังสีซึ่งแสดงถึงไตฝ่อ ขนาดเล็กลงจากเดิมมาก

 

การรักษาโรคไตวายเรื้อรัง

ในปัจจุบันมีการรักษาไตวาย เรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งหมด 3 วิธี คือ

  1. การรักษาทั่วไป
  2. การทำไตเทียม
  3. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต

 

เมื่อผู้ป่วยไตเรื้อรังเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายหรือ การทำงานของไตเสียไปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยมักมีอาการ รุนแรงมาก โดยปกติ แพทย์จะพิจารณาเริ่มการรักษาเร็วกว่าระยะนี้ การรักษาจะประคับประคองเพื่อมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจวาย อาการชัก หมดสติ หากรักษาด้วยยาไม่ได้ผลก็จำเป็นต้องใช้วิธีฟอกเลือดเอาของเสียออกจากร่างกาย เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพพอช่วยตัวเองได้ แต่ไตจะยังคงเป็นพังผืด เป็น รอยการอักเสบเรื้อรังระยะนาน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขหรือรักษาให้ฟื้น กลับมาทำงานเป็นปกติเช่นเดิมได้ ผู้ป่วยประเภทนี้จะต้องรักษาด้วยวิธี ฟอกเลือดหรือล้างช่องท้องชนิดถาวร เพื่อนำเอาของเสียออกไปตลอด เวลาจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต ซึ่งอาจเป็นไตบริจาคจากผู้เสียชีวิต มีสมองตาย แต่ไตยังทำงานปกติ หรือไตจากผู้มีชีวิต เช่น พ่อแม่ คู่สมรส ลูก หลาน ที่มีกรุ๊ปเลือดและเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้และยินดีบริจาคให้นำไปปลูกถ่ายไต ไตที่ได้รับการปลูกถ่ายแล้วก็จะฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ ใกล้เคียงปกติเช่นเดิม โดยต้องรับประทานยารักษาไตใหม่ตลอดไปและ อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน

 

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้าน โรคไต ศูนย์โรคไต ศูนย์ไตเทียมสาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

SHARE