มารู้จักกับ “โรคผมร่วงเป็นหย่อม” ใกล้ตัวกว่าที่คิด !!

8 เม.ย. 2565 | เขียนโดย ศูนย์ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) เป็นโรคที่มีการร่วงของผมเป็นหย่อมร่วมกับอาจพบการร่วงของขนบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เพศหญิงและเพศชาย พบบ่อยในช่วงอายุประมาณ 30 ปี



โรคผมร่วงเป็นหย่อมคืออะไร ?

โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) เป็นโรคที่มีการร่วงของผมเป็นหย่อมร่วมกับอาจพบการร่วงของขนบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เพศหญิงและเพศชาย พบบ่อยในช่วงอายุประมาณ 30 ปี

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากอะไร ?

สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อมเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายรากผมทำให้เกิดผมร่วง โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะบางอย่าง เช่น ความเครียดรุนแรง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคภูมิแพ้และโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่างๆ เช่น โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคด่างขาว การติดเชื้อไวรัส และการได้รับยาบางชนิด

 

ลักษณะอาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงจะมีลักษณะเป็นวงกลมขอบเขตชัดเจน อาจเกิดตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่ง ผิวหนังในบริเวณที่ผมร่วงมักจะมีลักษณะเหมือนกับหนังศีรษะปกติ แต่บางรายอาจพบอาการแสบคันผิวหนังบริเวณที่ผมร่วงได้ นอกจากนี้อาจพบขนบริเวณอื่นๆ ของร่างกายร่วงร่วมด้วย เช่น ขนคิ้ว ขนตา หนวดเครา อาการอาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือเกิดขึ้นเฉียบพลัน ผู้ป่วยบางรายสามารถหายได้เองและผมงอกกลับมาปกติ ในบางรายอาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง และในบางรายผมอาจไม่งอกกลับมาอีกเลย

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อมรักษาอย่างไร ?

โดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่ผมจะงอกขึ้นมาใหม่ได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา ในผู้ป่วยที่มีโรคภูมิคุ้มกันที่เป็นสาเหตุร่วม การรักษาโรคภูมิคุ้มกันนั้นจะช่วยให้อาการผมร่วงดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาต่างๆ เช่น

  • การใช้สเตียรอยด์ มีทั้งแบบฉีดและแบบทาที่บริเวณรอยโรค โดยการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • การใช้ทายากระตุ้นภูมิคุ้มกันบริเวณรอยโรค เช่น Topical diphenylcyclopropenone (TDCP)
  • การใช้ยาทาแก้ผมร่วง เช่น Minoxidil อาจใช้เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ผมงอกขึ้นมาใหม่เร็วขึ้น

ผมร่วงเยอะเป็นโรคอะไร

หากสงสัยว่าผมร่วงเยอะเป็นโรคอะไร ต้องทำความเข้าใจแบบนี้ก่อน โดยปกติคนเราผมจะร่วงอยู่ประมาณ 50-100 เส้นต่อวัน แต่ถ้าหากร่วงมากกว่าผิดปกติ ในเวลาติดต่อกัน อาจจะมีสาเหตุมาจากโรคเหล่านี้

  • พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม : พันธุกรรม คือ ครอบครัวมีศีรษะล้าน ในขณะที่สิ่งแวดล้อมอย่าง ความเครียด ฝุ่น ควัน และมลภาวะ ก็เป็นเหตุให้ผมร่วงได้
  • การเจ็บป่วย ผ่าตัด : อาจเกิดผลข้างเคียงทำให้ผมร่วงชั่วคราว แต่สามารถงอกใหม่ขึ้นมาเองได้  
  • ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง : ฮอร์โมนมีความเปลี่ยนแปลง เช่น ตั้งครรภ์ และวัยหมดประจำเดือน
  • โรคบางชนิด : โรคที่ส่งผลให้ผมร่วงโดยตรง ได้แก่ SLE, โรคต่อมไทรอยด์ และหนังศีรษะติดเชื้อ
  • ผลกระทบจากยา : ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคมะเร็ง, ข้ออักเสบ, ความดันโลหิตสูง และรักษาภาวะซึมเศร้า
  • ขาดสารอาหาร : ผลข้างเคียงจากการลดน้ำหนักเร็วเกินไป และขาดสารอาหารจำพวก โปรตีน, ธาตุเหล็ก รวมถึงสารอาหารชนิดอื่น ๆ

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพโดยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีสารอาหารและวิตามินครบถ้วน หลีกเลี่ยงความเครียดและสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการผมร่วง

 

เขียนโดย : ศูนย์ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลสินแพทย์

 

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านรูมาตอยด์ ภูมิแพ้ และ ภูมิคุ้มกัน ได้ที่  ศูนย์ภูมิแพ้ หรือ ศูนย์ภูมิคุ้มกัน  ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

 

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

SHARE