เห็ดพิษ…อันตรายถึงชีวิต ถ้าทานผิดโดยไม่ระวัง !!!

18 ก.ค. 2565 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ช่วงฤดูฝนในประเทศไทยเป็นช่วงที่เห็ดมีการเจริญเติบโตดี หาได้ง่าย จึงเป็นช่วงที่คนนิยมเก็บเห็ดมารับประทาน อย่างไรก็ตามเห็ดหลายชนิดมีพิษที่หากรับประทานเข้าไปแล้วอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต โดยเห็ดพิษนั้นมีหลายกลุ่มและมีอาการเกิดพิษแตกต่างกันไป ที่พบได้ในประเทศไทย เช่น



กลุ่มที่มีสารพิษ Cyclopeptide เช่น เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ตายซาก

  • จัดเป็นสารพิษในเห็ดที่อันตรายที่สุด เป็นพิษต่อหลายระบบของร่างกาย
  • ทำให้เกิดตับอักเสบ ไตวาย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง หัวใจวาย ลิ่มเลือดแพร่กระจาย ชักเกร็ง
  • ผู้ป่วยจะเกิดอาการหลังรับประทานภายใน 6 ถึง 24 ชั่วโมง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

กลุ่มที่สร้างสารพิษต่อระบบทางเดินอาหาร มีหลายชนิด เช่น เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดกรวยเกล็ดทอง เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดไข่เน่า

  • ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง จนทำให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ขาดเกลือแร่
  • อาการจะเกิดขึ้นภายใน 15 นาทีถึง 6 ชั่วโมง หลังรับประทาน

กลุ่มที่มีสารพิษ Ibotenic acid และ Muscimol เช่น เห็ดในตระกูลอะมานิต้าบางชนิด

  • มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการเพ้อ เมา ประสาทหลอน ความรู้สึกตัวลดลง
  • ถ้ารับประทานมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการทางจิต หมดสติ

กลุ่มที่มีสารพิษ Psilocin และ Psilocybin เช่น เห็ดขี้ควายหรือเห็ดโอสถลวงจิต เห็ดขอนเกล็ดสีแดง

  • ทำให้เกิดอาการเคลิ้ม ประสาทหลอน เดินเซ ม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ชักเกร็ง
  • อาการจะเกิดประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง หลังรับประทาน

กลุ่มที่มีสารพิษ Coprine เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก

  • หากรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้มีพิษต่อระบบประสาท
  • ทำให้มีอาการหน้าแดง ตัวแดง เหงื่อออกมาก ม่านตาขยาย ความดันโลหิตสูง ใจสั่น หอบเหนื่อย
  • อาการจะเกิดขึ้นภายใน 10 ถึง 30 นาที หลังรับประทานเห็ดร่วมกับแอลกอฮอล์

กลุ่มที่สร้างสารพิษ Monomethylhydrazine เช่น เห็ดสมองวัว

  • มีพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ทำลายตับ
  • ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เป็นตะคริว ชัก หมดสติ อาจเกิดภาวะตับวาย จนถึงเสียชีวิตได้
  • อาการจะเกิดขึ้นภายใน 6 ถึง 8 ชั่วโมง หลังรับประทาน

รับประทานเห็ดอย่างไรให้ปลอดภัย ?

  • เลือกซื้อเห็ดจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือแหล่งที่มีการเพาะเอง ไม่ควรเก็บเห็ดมารับประทานเองถ้าไม่มีความรู้เกี่ยวกับเห็ดนั้นดีพอ
  • ควรทราบว่าเห็ดที่มีลักษณะปกติสีไม่ฉูดฉาดก็อาจมีพิษได้ ไม่ควรรับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก
  • ทำความสะอาดเห็ดให้สะอาดก่อนนำมาปรุงอาหาร ไม่ควรนำเห็ดที่เน่าเสียมาปรุงอาหาร
  • ปรุงเห็ดให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน แต่ควรทราบไว้ว่าพิษของเห็ดบางชนิดนั้นไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการแผนกอายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ  ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

SHARE