“เรื่องหัวใจ ไม่เช็คไม่ได้…ตรวจก่อนสาย ลดเสี่ยง เลี่ยงโรคหัวใจ”

5 ก.ย. 2565 | เขียนโดย

รู้หรือไม่!? คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน! ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 58,681 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน โดยพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ชายในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งโดยปกติแล้วโรคหัวใจนั้นมักจะมีอาการอย่างเฉียบพลัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต คือการตรวจสุขภาพของหัวใจเป็นประจำ หากพบความเสี่ยงจะได้ป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที

โรคหัวใจมีหลายชนิด สามารถแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ดังนี้

  1. หัวใจล้มเหลว
  2. หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  3. หลอดเลือดหัวใจ
  4. ลิ้นหัวใจ
  5. กล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มหัวใจ
  6. หัวใจพิการแต่กำเนิด

ทั้งนี้ โรคหัวใจที่พบบ่อย คือ “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” (Coronary Artery Disease) ซึ่งเกิดจากการสะสมพอกพูนของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจแคบลง เลือดที่ขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปสู่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกส่งผ่านไปได้น้อยลงหรืออาจผ่านไม่ได้เลย จนทำให้หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรือตันในที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ

  1. อายุ – หากอายุมากขึ้นจะเพิ่ม มีโอกาสเสี่ยงสูงที่หลอดเลือดแดงจะเสียหาย เกิดการตีบตัน และกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
  2. เพศ – ผู้ชายทั่วไปมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่า แต่สำหรับผู้หญิงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังหมดประจำเดือน
  3. ปัจจัยทางพันธุกรรม – ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม่เป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย
  4. พฤติกรรมการสูบบุหรี่ – สารนิโคตินทำให้หลอดเลือดหดตัว และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สามารถทำลายเยื่อบุชั้นในได้ จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่ายขึ้น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบพบได้บ่อยในผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
  5. พฤติกรรมการกินอาหาร – อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ เกลือ น้ำตาล และคอเลสเตอรอลสูง สามารถทำให้เกิดโรคหัวใจได้
  6. ความดันโลหิตสูง – ความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวและหนาขึ้น ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง
  7. ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง – ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงโดยเฉพาะชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL-cholesterol) สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
  8. โรคเบาหวาน – โรคเบาหวานเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
  9. โรคอ้วน – น้ำหนักส่วนเกินมักทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น
  10. การออกกำลังกาย – การไม่การออกกำลังกาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ
  11. ความเครียด – ความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านจิตใจ อาจส่งผลไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติที่กระตุ้นหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการของโรคหัวใจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจสามารถตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งมีวิธีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจมีหลายวิธี เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะเดินสายพาน (EST) การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo) เป็นต้น ซึ่งแต่ละวิธีมีรายละเอียดการตรวจที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG : Electrocardiography) เป็นการตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจ หรือตรวจความสมบูรณ์ของคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือได้เกิดขึ้นไปแล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่มีผลต่อหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก เป็นต้น

วิธีการตรวจ แพทย์จะทำการวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจผ่านทางสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ของร่างกายจำนวน 10 จุด ได้แก่ หน้าอก แขน และขา แล้วบันทึกผลการตรวจจากกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจลงบนกระดาษ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที ถือว่าเป็นวิธีการตรวจที่ง่ายและสะดวก เหมาะสำหรับผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ เบาหวาน มีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย หรือมีอาการลิ้นหัวใจรั่ว แต่ในการตรวจด้วยวิธีนี้อาจจะไม่พบสิ่งผิดปกติในคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจบางชนิดได้ เนื่องจากถ้าหัวใจไม่ได้ทำงานหนักขึ้นการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจจะยังไม่เกิดขึ้น

  1. การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะเดินสายพาน (EST)

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST: Exercise Stress Test) เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพาน ใช้ประเมินภาวะหัวใจขาดเลือก วิธีนี้นิยมนำมาใช้บ่อยในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก เพราะเมื่อมีการออกกำลังกาย หัวใจจะต้องการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น

หากผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ มีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รู้ว่าบุคคลนั้นเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดอยู่หรือไม่ หัวใจผิดจังหวะอยู่หรือเปล่า ซึ่งบางรายอาจเกิดอาการเจ็บ จุกแน่นหน้าอก ขณะทำการทดสอบได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคหัวใจอยู่

วิธีการตรวจ จะให้ผู้เข้ารับบริการ เดินหรือวิ่งบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ประมาณ 10-15 นาที เหมาะสำหรับผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีอาการแน่นหน้าอกเวลาออกแรง หรือเหนื่อยง่าย แต่จะไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ และไม่สามารถเห็นโครงสร้างของหัวใจ

  1. การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo)

การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo : Echocardiogram) เป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน ทำให้เห็นโครงสร้างหัวใจ เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้า-ออกจากหัวใจ ใช้หลักการเดียวกับการตรวจอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ทางสูตินรีเวช

วิธีการตรวจ จะให้ผู้เข้ารับบริการนอนบนเตียงราบ แพทย์จะใช้หัวอัลตราซาวด์ใส่เจล และถูบริเวณหน้าอกและใต้ราวนม เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านอวัยวะต่างๆ จะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับที่แตกต่างกันระหว่างน้ำและเนื้อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้มาสร้างเป็นภาพ ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 15 นาที เหมาะกับผู้ที่มีอาการบวมและหอบเหนื่อย เสี่ยงต่อโรคหัวใจ และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ แต่วิธีการตรวจแบบนี้จะดูได้เฉพาะโครงสร้างหัวใจ โดยจะไม่เห็นเส้นเลือดหัวใจ

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจ การตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งสำคัญ หากตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว ก็จะสามารถหาทางป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

แผนกตรวจสุขภาพ (Check Up Center)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา https://bit.ly/2C8v6lL
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา https://bit.ly/2YBhkQo
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ https://bit.ly/3405PZh
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ https://bit.ly/3ht6Koo
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ https://bit.ly/3q1kkRY
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี https://bit.ly/3bwoj5a

SHARE