ผู้ป่วยโรคไต ดูแลตัวเองอย่างไรให้สุขภาพดี

17 พ.ย. 2564 | เขียนโดย ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลสินแพทย์

โรคไตวายเรื้อรัง หากเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้ แต่ถ้าสามารถตรวจพบโรคในระยะแรก ๆ ที่เนื้อเยื่อไตไม่ได้เสียหายมากนัก ก็สามารถรับการรักษา เพื่อชะลอความเสื่อมของไตไว้ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระยะที่ต้องฟอก หรือ ปลูกถ่ายไตให้ช้าที่สุด และหากผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ก็จะยิ่งช่วยยืดเวลาให้ไตเสื่อมช้าลงไปได้เช่นกัน



โรคไตวายเรื้อรัง หากเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้ แต่ถ้าสามารถตรวจพบโรคในระยะแรก ๆ ที่เนื้อเยื่อไตไม่ได้เสียหายมากนัก ก็สามารถรับการรักษา เพื่อชะลอความเสื่อมของไตไว้ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระยะที่ต้องฟอก หรือ ปลูกถ่ายไตให้ช้าที่สุด และหากผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ก็จะยิ่งช่วยยืดเวลาให้ไตเสื่อมช้าลงไปได้เช่นกัน

 

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเสื่อมของไต

  • การควบคุมโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน หรือ ความดันโลหิตสูง โรคเหล่านี้ หากไม่ดูแลควบคุม ให้อยู่ในภาวะปกติ จะทำให้ไตเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ควรรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด และคอยดูแลอาการของโรคร่วมให้อยู่ในภาวะปกติ
  • การควบคุมอาหาร ไต มีหน้าที่กรองของเสีย และสารอาหารส่วนเกินจากอาหารที่เราทานเข้าไป ดังนั้น อาหารจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะส่งผลลบต่อความเสื่อมของไต ผู้ป่วยโรคไตควรลดอาหารที่มีโปรตีนลง รวมถึงอาหารที่มีโซเดียม และไขมันมาก ๆ เช่น ของทอด เนื้อติดมัน ของหมักดอง เป็นต้น นอกจากนี้ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์
  • การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิดหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดผลเสียต่อไตได้เช่นกัน รวมถึง การรับประทานยาด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือ ยาสมุนไพร หากรับประทานโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ก็อาจเป็นอันตรายต่อไตได้เช่นกัน
  • การสูบบุหรี่ จะทำให้ความดันโลหิตผิดปกติ ส่งผลต่อการทำงานของไตได้ ผู้ป่วยโรคไตจึงควรงดสูบบุหรี่
  • การติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือ ที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ล้วนกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของไตโดยตรง หากมีอาการปัสสาวะผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
  • ขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะอ้วน เพราะร่างกายจะมีระดับความดันโลหิตที่สูง ซึ่งจะทำให้ไตเสื่อมลงได้เร็วกว่าปกติ หากยิ่งปล่อยเอาไว้

 

การดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง

  • ควบคุมอาหาร และน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาเอง และปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา และอาหารเสริม ก่อนรับประทานทุกครั้ง
  • ควบคุมอาการของโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน หรือ โรคหัวใจ ให้อยู่ในภาวะปกติ
  • ดูแลความสะอาดของร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อ
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ตัวบวม ปัสสาวะผิดปกติ มีอาการปวดตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีอาการอย่างต่อเนื่อง ควรรีบมาพบแพทย์
  • พบอายุรแพทย์โรคไต เพื่อตรวจเช็กอาการอย่างสม่ำเสมอ

 

หากผู้ป่วยโรคไตดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างดี จะชะลอความเสื่อมของไตได้ สามารถยืดเวลาในการฟอก หรือ เปลี่ยนถ่ายไตออกไปให้นานขึ้น สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว และถูกต้อง ดังนั้น การตรวจสุขภาพไตเป็นประจำทุกปีจึงมีความสำคัญ ในการตรวจหาความเสี่ยงของโรค และรับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

 

ตรวจไต

ตรวจสอบรายละเอียดโปรแกรมตรวจสุขภาพโรคไตเบื้องต้น พร้อมโปรโมชันพิเศษ คลิก https://bit.ly/3ofXs1P

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้าน โรคไต ศูนย์โรคไต ศูนย์ไตเทียมสาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

 

SHARE