เรารู้จัก…โรคไวรัสตับอักเสบ บี กันดีหรือยัง?

11 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

เชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบที่พบบ่อยในคนไทย ทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ ในคนไทยประมาณ 8-10% เป็นพาหะ หรือเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี



เรารู้จัก…โรคไวรัสตับอักเสบ บี กันดีหรือยัง?

เชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบที่พบบ่อยในคนไทย ทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ ในคนไทยประมาณ 8-10% เป็นพาหะ หรือเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี

 

ไวรัสตับอักเสบบี เกิดจากสาเหตุอะไร

ไวรัสตับอักเสบบี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดบี ที่สามารถติดต่อได้จากคนสู่คน รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดเชื้อไวรัสผ่านของเหลวในร่างกาย ซึ่งยกเว้นการแพร่จากน้ำลาย โดยสาเหตุของการติดเชื้อสามารถมีที่มาได้จาก

  • การติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด
  • การสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย เช่น การสัมผัสกับเลือดหรือแผลเปิด การใช้ของมีคมร่วมกัน การใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส 
  • การติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ยังส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคมะเร็ง ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และอาการตับแข็งได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีสถิติผู้ที่ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี ประมาณร้อยละ 5-7 จากประชากรทั้งหมดในประเทศ ซึ่งสาเหตุของโรคส่วนใหญ่ มักเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี

 

อาการ ไวรัสตับอักเสบบี

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี หลังจากการติดเชื้อ ในกรณีที่ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจะสามารถกำจัดเชื้อได้เอง โดยไม่มีอาการของโรคเกิดขึ้นภายหลัง แต่หากมีอาการ ร่างกายจะทำการกำจัดเชื้อไวรัส พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำขึ้นได้ในระยะ 2-3 อาทิตย์ โดยจะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ความรุนแรงของโรคจะพัฒนากลายเป็นภาวะติดเชื้อเรื้องรัง

 

อาการของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั่วไป อาจมีลักษณะปรากฎดังนี้ 

  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • เป็นไข้ และอ่อนเพลีย
  • อาการเบื่ออาหาร
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • อาการดีซ่าน ตาเหลืองหรือตัวเหลือง

ในทางกลับกันหากร่างกายอ่อนแอ อาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรง และนำไปสู่การเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน อาการตับวาย ตลอดจนการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเรื้อรัง การเกิดภาวะตับแข็ง และโรคมะเร็งตับในที่สุด

 

ไวรัสตับอักเสบบี คืออะไร รู้เท่าทันก่อนกลายเป็นโรครุนแรง

ไวรัสตับอักเสบบี คือ ภาวะการติดเชื้อที่บริเวณตับ โดยเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดบี ที่มีการกระจายตัวภายในเซลล์ตับ ส่งผลทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน และภาวะตับอักเสบชนิดเรื้อรังได้ 

ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะติดเชื้อเรื้อรัง ถึงแม้ในระยะแรกจะไม่มีอาการของโรคหรือที่เรียกกันว่าระยะโรคสงบ แต่ข้อเท็จจริงแล้วความรุนแรงของโรคสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะตับแข็ง โรคมะเร็งตับ และความเสี่ยงในการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบบีซ้ำขึ้นได้อีกครั้ง เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าว สามารถคงอยู่ภายในร่างกายของเราได้ตลอดชีวิต และมีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะเกิดการแบ่งตัวหรือกระจายตัวเพิ่มมากขึ้นภายในร่างกาย

 

โรคไวรัสตับอักเสบ บี ติดต่อกันทางใดได้บ้าง

  • ทางเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน หรือไม่ได้สวมถุงยางอนามัย กับผู้ที่มีเชื้อโรค
  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่มีเชื้อโรค
  • ใช้เข็มสัก หรือสี หรือเข็มเจาะหูร่วมกัน
  • ใช้แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด หรือกรรไกรตัดเล็บร่วมกัน
  • ติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด
  • การสัมผัสสารคัดหลั่ง เลือด น้ำเหลือง ทางแผลเปิดตามร่างกาย

 

** เชื้อนี้ไม่ติดต่อกันทางน้ำลาย แม้จะรับประทานอาหารร่วม ยกเว้นมีแผลในช่องปาก หรือไรฟัน ดังนั้นผู้ที่เป็นพาหะ หรือผู้ที่เป็นโรคนี้จึงสามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ

 

จะรู้ได้อย่างไรว่า เราติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือไม่

สามารถทำได้โดยการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี (HBsAg) เป็นวิธีการตรวจที่ทำได้ง่าย และค่าใช้จ่ายไม่สูง หากผลตรวจพบเชื้อไวรัส แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเลือดนับปริมาณเชื้อไวรัสร่วมกับ ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน หรือบางรายอาจต้องตัดชิ้นเนื้อตับร่วมด้วย

 

โรคไวรัสตับอักเสบบี มีอาการอย่างไร และจะกลายเป็นโรคมะเร็งตับได้จริงหรือไม่

โรคตับอักเสบชนิดบี แบ่งออกเป็นระยะใหญ่ๆ ดังนี้

  • ระยะตับอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากการเพิ่งได้รับเชื้อไวรัส หรือเชื้อไวรัสเดิมที่มีอยู่ในร่างกายมีการต่อสู้กับภูมิคุ้มกัน จนเกิดทำลายเนื้อเยื่อตับ จะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) แน่นท้อง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ผลตรวจเลือดจะพบค่าการทำการของตับสูงขึ้น ในระยะนี้บางรายสามารถหายได้เองภายใน 2-6 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดตับวายเฉียบพลันจนเสียชีวิต หรือบางรายก็เข้าสู่ระยะตับอักเสบเรื้อรัง
  • ระยะพาหะนำโรคไวรัสตับอักเสบบี ระยะนี้มักไม่มีอาการผิดปกติ ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มักจะพบในช่วงวัยรุ่น จนถึงอายุ 40 ปี ผลตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับก็ปกติ แต่ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี
  • ระยะตับอักเสบเรื้อรัง เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย บางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบค่าการทำงานของตับสูงขึ้น แสดงถึงว่าตับมีการอักเสบเรื้อรัง และสามารถทำให้ตับแข็งได้ ในระยะนี้จึงจำเป็นต้องรักษา
  • ระยะตับแข็ง และมะเร็งตับ เป็นระยะสุดท้ายของโรคตับ เกิดจากการอักเสบของตับเรื้อรัง จะมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ดีซ่าน ท้องมาน แขนขาบวม ตัวบวม

 

เมื่อทราบว่าเป็นโรคตับอักเสบชนิดบีแล้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และวางแผนในการรักษา ปัจจุบันมียาในการรักษาหลากหลายชนิด ทั้งชนิดฉีดและรับประทาน แพทย์จะมีการประเมินความเหมาะสมของผู้ป่วยในแต่ละราย ผู้ป่วยจำเป็นต้องป้องกันไม่แพร่เชื้อและรับเชื้อใหม่ โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารหมักดอง สุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีความเสี่ยงของเชื้อรา เช่น ถั่วลิสงคั่วป่นที่เก็บไว้เป็นเวลานาน
  • งดสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงการรับยาเองโดยไม่จำเป็น หากต้องการใช้ควรรับคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกร
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  • งดบริจาคเลือด ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หลีกเลี่ยงการสักร่างกาย
  • วางแผนครอบครัวก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการติดต่อจากแม่สู่ลูก
  • แนะนำคนใกล้ชิดป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่กังวลจนเกินไป เพราะไวรัสตับอักเสบสามารถรักษาได้ และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
  • ติดตามการรักษา พบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยอย่างสม่ำเสมอ ทุก 3-6 เดือน

 

การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้โดย

  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี โดยทั่วไปจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มสุดท้ายห่างจากเข็มที่แรก 6 เดือน การฉีดครบโดสจะช่วยเพิ่มภูมิุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย แยกของใช้ส่วนตัวให้ชัดเจน เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจมีเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อปะปนอยู่
  • ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี หากคุณมีความเสี่ยง เช่น มีคู่นอนหลายคน ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี การตรวจคัดกรองจะช่วยให้คุณทราบสถานะของตัวเองและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี มีวิธีรักษาอยู่ 2 แบบหลัก ๆ ได้แก่

  • การรักษาแบบใช้ยารับประทาน : การรักษาแบบใช้ยารับประทาน จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส และควบคุมได้ดี
  • การรักษาแบบใช้ยาฉีด : ยาฉีด ฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ในภาษาทางการแพทย์จะเรียกว่า “ยาฉีดเพ็กไกเลดเตด อินเตอร์เฟียรอน หรือในชื่ภาษาอังกฤษ pegylated interferon ออกฤทธิ์แบบกระตุ้นภูมิต้านทานให้สามารถสู้กับไวรัสและยับยั้งการแบ่งตัว โดยจะใช้เวลารักษาถึง 48 สัปดาห์

 

ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี

ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี จะช่วยให้ทราบถึงสภาวะร่างกายของตัวเอง เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการป้องกันและจัดการกับปัญหาสุขภาพต่าง ๆ หากพบว่าป่วยเป็นโรคในระยะเริ่มแรก จะได้ทำการรักษาได้ทัน ไม่ปล่อยให้โรคลุกลาม และเป็นตัวช่วยในการติดตามโรคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบความเป็นไปและผลลัพธ์ในการรักษา ว่าดีขึ้นบ้างหรือไม่ ถ้าไม่ดีขึ้นจะได้เปลี่ยนวิธีเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงดังเดิม

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบี (FAQ)

 

ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีสามารถส่งต่อเชื้อให้ลูกได้หรือไม่? 

ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีสามารถส่งต่อเชื้อให้ลูกได้ ในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด หรือหลังคลอด หากแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย แต่ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อในทารกได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีและอิมมูโนโกลบูลิน (Hepatitis B Immune Globulin: HBIG) ให้กับทารกภายใน 12 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

 

ไวรัสตับอักเสบบีมีผลต่อชีวิตประจำวันอย่างไร?

 ไวรัสตับอักเสบบี ในบางรายสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่บางรายจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง หรือมีไข้ และหากอาการรุนแรงขึ้นอาจจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันอื่น ๆ ได้

 

การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีปลอดภัยหรือไม่? 

สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน และต้องระมัดระวังในการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย แนะนำให้สวมถุงมือป้องกัน และล้างมือให้สะอาดหลังจากสัมผัส ในกรณีมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค

 

 

พบแพทย์เฉพาะทาง คลินิกอายุรกรรมทางเดินอาหารและตับ

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา  

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์  

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ 

 

SHARE