เมื่อลูกพูดช้า….

16 ก.ค. 2563 | เขียนโดย พญ. สุธีรา คุปวานิชพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมในเด็ก

เมื่อลูกพูดช้า

เด็กเริ่มเรียนรู้ภาษาและการสื่อสาร จากปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว ร่วมกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวพัฒนาการทางภาษาเป็นทักษะที่จำเป็นในการสื่อสารและเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กๆ

ซึ่งพัฒนาการทางภาษาแบ่งเป็น 2 ด้านหลักๆ คือ

  1. การเข้าใจภาษา คือ สามารถฟังและเข้าใจ ทำตามคำสั่งได้ ชี้อวัยวะ ชี้ภาพตามคำบอกได้

  2. การใช้ภาษา คือ ใช้คำพูด ภาษาท่าทาง เพื่อสื่อความต้องการและแก้ปัญหาได้

โดยส่วนใหญ่ เด็กจะพูดคำที่มีความหมายคำแรกได้เมื่ออายุ 1 ปี โดยออกเสียงคำง่ายๆได้ก่อน เช่น  จ๋าจ้ะ หม่ำหม่ำ ปาป๊า หม่าม้า

และ คลังคำศัพท์จะค่อยๆเพิ่มมากขึ้น จนเมื่ออายุ 2 ปี เด็กจะพูดได้ประมาณ 50-200 คำ ร่วมกับพูด 2-3 คำติดกันได้ และพัฒนาต่อไปจนพูดสื่อสารเป็นประโยค เล่าเรื่องราวได้

สัญญาณที่บ่งว่าเด็กมีภาษาล่าช้า

อายุ 6 เดือน ไม่ตอบสนองต่อเสียง ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ ไม่หัวเราะ

อายุ 9 เดือน ไม่หันหาเสียงเรียกชื่อ ไม่ส่งเสียงโต้ตอบกับผู้เลี้ยงดู

อายุ 12 เดือน ไม่ชี้นิ้ว ไม่ใช้ท่าทางพยักหน้าหรือส่ายหัวเพื่อปฏิเสธ ไม่เรียก “พ่อ” “แม่”

อายุ 15 เดือน ไม่พูดคำที่มีความหมายเลย

อายุ 18 เดือน ไม่เข้าใจหรือไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ไม่พูดคำที่มีความหมายอย่างน้อย 3 คำ

อายุ 2 ปี พูดคำที่มีความหมายได้น้อยกว่า 20-50 คำ ไม่สามารถพูดวลี 2 คำต่อเนื่องกันได้

อายุ 3 ปี ไม่สามารถพูดเป็นประโยคที่สมบูรณ์ คนอื่นฟังที่เด็กพูดส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ

อายุ 4 ปี ไม่สามารถเล่าเรื่องสั้นๆให้คนอื่นเข้าใจได้

สาเหตุของการพูดช้า ที่พบได้บ่อยได้แก่

  1. การได้ยินบกพร่อง เช่น หูหนวก หูตึง ทำให้เด็กไม่ได้ยินหรือได้ยินไม่ชัดเจนจึงไม่สามารถพูดได้ เด็กกลุ่มนี้อาจจะสังเกตได้ตั้งแต่วัยทารกที่มักไม่ค่อยตอบสนองต่อเสียง และเด็กมักจะมีทีท่าอยากสื่อสาร เช่น จ้องมองปาก ท่าทางของคนผู้เลี้ยงดู และใช้ภาษาท่าทางในการสื่อสารมาก

  2. ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เด็กมักจะมีปัญหาพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ในหลายๆด้าน เช่น ด้านกล้ามเนื้อ ด้านความจำ การแก้ปัญหาช้า การเล่นที่ไม่สมวัย ร่วมกับพูดสื่อสารได้ช้า

  3. กลุ่มอาการออทิซึม เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า เช่น ไม่เข้าใจ ไม่ทำตามคำสั่ง พูดช้าร่วมกับความบกพร่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ไม่มองหน้าสบตา เรียกชื่อไม่หัน ไม่มีอารมณ์ร่วม หรือไม่มีความสนใจร่วมกับผู้เลี้ยงดู ร่วมกับมีพฤติกรรมซ้ำๆ ยึดติด

  4. ภาวะพัฒนาการทางภาษาล่าช้า คือ เด็กมีพัฒนาการล่าช้าเฉพาะด้านภาษาด้านเดียวเท่านั้น โดยพัฒนาการด้านอื่นปกติ โดยแบ่งเป็น

     4.1) พัฒนาการทั้งด้านความเข้าใจภาษาและการใช้ภาษาล่าช้า เด็กกลุ่มนี้มีความล่าช้าทั้งความเข้าใจภาษา การทำตามคำสั่ง ร่วมกับภาษาพูดล่าช้า เด็กในกลุ่มนี้ควรต้องได้รับการรักษาและติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเข้าสู่วัยเรียนพบว่าประมาณ 50% ของเด็กกลุ่มนี้มีปัญหาทักษะการเรียน เช่น การอ่าน การเขียน การสะกดคำ ตามมาได้

    4.2) การพูดหรือการใช้ภาษาล่าช้า ที่เรียกกันว่า “เด็กปากหนัก” เด็กจะมีพัฒนาการด้านความเข้าใจภาษาสมวัยดี แต่ยังไม่เปล่งเสียงพูด เด็กอาจจะใช้ท่าทางช่วยเพื่อบอกความต้องการ เช่น ชี้ พยักหน้า ส่ายหัว เด็กกลุ่มนี้มีพยากรณ์โรคดีที่สุด สามารถพัฒนาได้จนทักษะภาษาเป็นปกติดี

  1. สาเหตุจากการเลี้ยงดู การเลี้ยงที่ปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวหรืออยู่กับสื่อหน้าจอมากเกินไป เด็กไม่ได้รับการดูแล ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดูอย่างเหมาะสม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรง แต่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เด็กมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น จึงไม่แนะนำให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ใดๆเลย

การดูแลเบื้องต้น

  • ให้เวลาเล่นและพูดคุยกับลูกมากขึ้น ลดเวลาการใช้สื่อ ทั้งการดูทีวี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ลง

  • เพิ่มคลังคำศัพท์ให้ลูกผ่านกิจกรรมและการเล่น เช่น เล่านิทาน ดูรูปภาพ ฝึกชี้ภาพ บัตรคำ ร้องเพลง เล่นบทบาทสมมติ

  • ค่อยๆฝึกให้ลูกพูดบอกความต้องการง่ายๆ เช่น นม น้ำ หม่ำ เอา ไป มา ไม่

  • ให้โอกาสลูกได้สื่อสาร รอให้เด็กสื่อสารก่อน ตอบสนองทุกครั้งเมื่อลูกพูด ร่วมกับให้แรงเสริมทางบวก

ลูกพูดช้าจำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่

ควรพาลูกมาปรึกษากุมารแพทย์พัฒนาการเด็กเพื่อประเมินพัฒนาการ หาสาเหตุ ให้ได้รับการวินิจฉัยและได้รับคำแนะนำแนวทางการดูแลรักษาที่ถูกต้อง


พบแพทย์เฉพาะทางสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ #คลิ๊กเลย

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

SHARE