ภาวะแพ้อาหารคืออะไร?

14 ม.ค. 2564 | เขียนโดย พญ.กุลพรภัสร์ เบญญาจิราพัชร์ (กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน รพ.สินแพทย์ เทพารักษ์)
  • แพ้อาหาร คืออะไร?

“ภาวะแพ้อาหาร” หมายถึง อาการไม่พึงประสงค์ที่แสดงออกทางร่างกาย อันเกิดจากภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้นๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการซ้ำๆได้ หากได้รับอาหารที่แพ้ชนิดเดิม

ปัจจุบันภาวะแพ้อาหาร พบได้บ่อยถึงประมาณ 1-10% ของประชากรเลยทีเดียว อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยพบภาวะแพ้อาหารในผู้ป่วยเด็กๆ มากกว่าผู้ใหญ่ และสามารถพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่นๆได้บ่อยด้วย เช่น โรคผื่นแพ้ผิวหนัง หอบหืด และภูมิแพ้จมูกอักเสบ
.

  • อาหารอะไรบ้าง ที่ผู้ป่วยมักแพ้?

อาหารที่ผู้ป่วยแพ้ที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้

  1. นมวัว
  2. ไข่
  3. แป้งสาลี
  4. ถั่วเหลือง
  5. ถั่วลิสง
  6. ถั่วเปลือกแข็งเช่น อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ วอลนัท พีแคน แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ เฮเซลนัท บราซิลนัท
  7. ปลา
  8. อาหารทะเลได้แก่ กุ้ง ปู หอย ปลาหมึก

.

  • แพ้อาหาร จะมีอาการอะไรบ้าง?

อาการแสดง เมื่อมีภาวะแพ้อาหาร พบได้ในหลายระบบอวัยวะของร่างกาย ดังต่อไปนี้

  1. อาการทางผิวหนังเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น ลมพิษฉับพลัน ตาบวมปากบวม ผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ ผื่นแพ้จากการสัมผัส
  2. อาการทางระบบทางเดินอาหารเช่น อาเจียน ท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระมีเลือด เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น
  3. อาการทางระบบทางเดินหายใจเช่น คัดจมูก น้ำมูกเรื้อรัง ไอ หายใจไม่สะดวก หอบ
  4. อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือดเช่น หน้ามืด เป็นลม หมดสติ

นอกจากนี้ยังมีอาการแสดงอื่นๆ ที่ต้องนึกถึงภาวะแพ้อาหาร ได้แก่ เด็กที่น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ หรือเติบโตช้าผิดปกติ

ในบางครั้ง ผู้ป่วยแพ้อาหารอาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง (anaphylaxis) โดยมีอาการแสดงหลายระบบพร้อมๆกันได้ ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
.

  • แพ้อาหาร หายได้หรือไม่?

ถึงแม้ผู้ป่วยแพ้อาหาร อาจแสดงอาการที่ฉับพลัน อาจมีอาการที่รุนแรง หรือเรื้อรังยาวนาน รบกวนคุณภาพชีวิต แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เมื่อโตขึ้น โดยโอกาสหายจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน และขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่แพ้ด้วย อาทิเช่น ผู้ป่วยที่แพ้นมวัว มีโอกาสหายได้ถึง 70-90%
.

ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องว่ามีภาวะแพ้ต่ออาหารชนิดใดบ้าง เพื่อการหลีกเลี่ยงอาหารได้อย่างเหมาะสม ไม่หลีกเลี่ยงมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินภูมิคุ้มกันต่ออาหาร(โดยการสะกิดผิว และ/หรือ การตรวจเลือด) เป็นระยะๆ และทดสอบการแพ้อาหารภายใต้การดูแลของแพทย์ จนกว่าผู้ป่วยจะหายแพ้ หรือมีอาการที่ดีขึ้น..
.

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์กุมารเวช

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา  

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์  

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์

 

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ