มะเร็งผิวหนัง เกิดจากการแบ่งตัวและเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ผิวหนังกลายเป็นเซลล์มะเร็ง สามารถเกิดได้ในทุกตำแหน่งของร่างกาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากเซลล์ผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ Basal cell carcinoma และ Squamous cell carcinoma และมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี หรือ Malignant melanoma
แม้มะเร็งผิวหนังจะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้พบมะเร็งผิวหนังได้มากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังมีอะไรบ้าง ?
- การสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ
- เคยได้รับการฉายรังสี
- การสัมผัสสารเคมี เช่น สารหนู เป็นเวลานาน ๆ
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง การได้รับยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด
- ผู้ที่มีผิวขาว เช่น ชาวตะวันตก
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
- โรคทางพันธุกรรมผิวหนังบางชนิด
- มีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย
- มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ
- การสูบบุหรี่
อาการของมะเร็งผิวหนังเป็นอย่างไร ?
- ตุ่มหรือก้อนนูนที่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ตุ่มหรือผื่นที่ผิวหนังเกิดเป็นแผล มีเลือดออก
- แผลหรือผื่นเรื้อรังที่รักษาไม่หาย กลายเป็นเนื้อนูนขึ้น
- แผลเป็นเดิมมีสีดำขอบเขตไม่ชัดเจน มีแผลเกิดขึ้น
- ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ขนาดใหญ่ขึ้น มีสีไม่สม่ำเสมอ ขอบเขตไม่เรียบ มีแผลเกิดขึ้น มีเลือดออกง่าย
การรักษามะเร็งผิวหนังทำอย่างไร ?
การรักษามะเร็งผิวหนังขึ้นอยู่กับระยะและชนิดของมะเร็งผิวหนังที่ตรวจพบ วิธีการรักษาในปัจจุบันได้แก่
- การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกทั้งหมด เป็นการรักษามาตรฐานโดยทำการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งและเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบออก ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูงกว่าร้อยละ 90
- การขูดออกและจี้ด้วยไฟฟ้า ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัด เหมาะกับมะเร็งผิวหนังที่มีขนาดของก้อนค่อนข้างเล็ก
- การรักษาด้วยการจี้เย็น โดยใช้ไนโตรเจนเหลวจี้ผิวหนังบริเวณที่เป็นมะเร็ง ผิวหนังบริเวณนั้นจะตกสะเก็ดและหลุดออก เหมาะกับมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้น
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและสามารถรักษาโดยการผ่าตัดได้ จะให้ผลการรักษาดีที่สุด สามารถหายขาดได้ ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งผิวหนังควรรีบมาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็ว
การป้องกันมะเร็งผิวหนังทำอย่างไร ?
- หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด โดยการใส่หมวก ใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว กางร่มป้องกันรังสียูวี
- ทาครีมกันแดดเป็นประจำก่อนออกแดดอย่างน้อย 20-30 นาที ควรทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี น้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนสารหนู หลีกเลี่ยงการใช้ยาหม้อ ยาสมุนไพร
- หลีกเลี่ยงภาวะต่างๆที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง หลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสีโดยไม่จำเป็น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- คอยสังเกตผิวหนังตนเองสม่ำเสมอ หากมีตุ่มหรือก้อนที่น่าสงสัยควรรีบมาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ