มือชาอย่าปล่อยไว้ ระวังเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ!

3 ส.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรือ โรคพังพืดข้อมือทับเส้นประสาท (Carpal Tunnel Syndrome) คือ ภาวะที่มีการกดทับเส้นประสาทมีเดียนที่อยู่ในโพรงเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ส่งผลให้มีอาการปวดและชาตามนิ้วมือ ถ้าเส้นประสาทถูกกดทับนาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อมือฝ่อลีบและอ่อนแรงตามมา



มือชาอย่าปล่อยไว้ ระวังเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ!

Carpal tunnel syndrome เกิดจากอะไร ?

เกิดจากการใช้งานมือและข้อมืออย่างไม่เหมาะสมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ เช่น การใช้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ การทำสวน การทำงานบ้าน การยกของหนัก การทำงานก่อสร้าง การใช้งานที่ไม่เหมาะสมนี้ ทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดเบียดเข้ากับหลังคาของโพรงเส้นประสาท จนเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับการกดทับเส้นประสาท ได้แก่

  • การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบริเวณข้อมือ
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะไตวายเรื้อรัง
  • การตั้งครรภ์
  • โรคไฮโปไทรอยด์
  • ภาวะอ้วน
  • ผู้หญิงวัยกลางคนหรือวัยหมดประจำเดือน

 

อาการของ Carpal tunnel syndrome เป็นอย่างไร?

  • ชาบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือ บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง
  • ปวดนิ้วมือเหมือนถูกไฟช็อต อาจปวดร้าวไปแขนหรือข้อศอก
  • มีอาการอ่อนแรงของมือและข้อมือ หยิบจับของลำบาก
  • กล้ามเนื้อฝ่ามือฝ่อลีบ

อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ช่วงแรกอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ชั่วคราว ต่อมาถ้าเส้นประสาทถูกกดทับมากขึ้น อาการจะเป็นบ่อยขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีปัญหาต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน

 

Carpal tunnel syndrome รักษาอย่างไร ?

การรักษาประคับประคอง

  • การพักการใช้งานมือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการใช้มืออย่างไม่เหมาะสม
  • การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อมือ เพื่อลดการกดรัดเส้นประสาท
  • การทำกายภาพบำบัด เช่น การประคบร้อนหรือประคบเย็นตามระยะและอาการของโรค การอัลตราซาวน์ การเลเซอร์เพื่อบรรเทาอาการปวดและชา
  • การรับประทานยาลดปวดและต้านการอักเสบ
  • การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าไปในโพรงข้อมือรอบ ๆ เส้นประสาท การรักษานี้มักได้ผลเพียงชั่วคราว
  • การรักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน ข้ออักเสบรูมาตอยด์

การรักษาโดยการผ่าตัด

หากรักษาประคับประคองแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 เดือน หรืออาการแย่ลงจนมีปัญหาต่อการใช้งาน ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการผ่าตัดสามารถทำได้ 2 แบบ คือ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง และการผ่าตัดแบบเปิด แพทย์จะทำการผ่าตัดคลายพังผืดให้โพรงข้อมือเปิดกว้างออก ทำให้เส้นประสาทไม่ถูกกดเบียดและกลับมาทำงานได้ปกติ

 

ปรึกษาแพทย์ชำนาญการศูนย์กระดูกและข้อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม

SHARE