ตรวจสมรรถภาพหัวใจ ด้วยการวิ่งสายพาน (EST)

12 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

การตรวจที่ถือเป็นมาตรฐาน สำหรับค้นหาโรคนี้ คือ การตรวจสมรรถภาพหัวใจ ด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stres Test : EST) เป็นวิธีการตรวจสมรรถภาพของระบบไหลเวียน ระบบหายใจ และระบบกล้ามเนื้อโดยรวม ที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกาย ถูกนำมาใช้บ่อยในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจ และหลอดเลือดที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งจะทดสอบได้ว่า ในขณะที่ออกกำลังกายหัวใจจะมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น จะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดขึ้นหรือไม่ หากผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป บางรายจะเกิดอาการเจ็บจุกแน่นหน้าอก และอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็นโรคหัวใจอยู่



โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เมื่อก่อนอาจจะเป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในทุกวันนี้เกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรโลกรวมทั้งในประเทศไทยด้วย และโรคนี้มีความสัมพันธ์กับผู้เป็นเบาหวานเป็นอย่างมาก เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ที่เป็นเบาหวานมานานและมีการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีพอ ทำให้เกิดความเสื่อมของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เห็นได้จากการเสียชีวิตส่วนใหญ่ในผู้ป่วยเบาหวานเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นอัตราการตายที่สูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานถึง 7 เท่า

 

ทำไมต้องป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจจากเบาหวาน ?

 

ผู้เป็นเบาหวานมักจะมีความผิดปกติของหลอดเลือดเร็วกว่าคนปกติทั่วไป รอยโรค หรือplaque ที่หลอดเลือดอาจจะมีการปริซึ่งจะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดอย่างเฉียบพลัน ทำให้มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจตามมา และนอกจากนั้นอัตราการเสียชีวิตก็เกิดขึ้นมากกว่า

ถ้าผู้เป็นเบาหวานเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ การรักษาจะได้ผลดีน้อยกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการป้องกันจึงดีกว่าการปล่อยให้เกิดโรคแล้วค่อยทำการรักษา

 

อาการโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้เป็นเบาหวานแตกต่าง…จากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอื่นๆ หรือไม่?

 

อาการเจ็บหน้าอกของโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่เป็นเบาหวานมักไม่ชัดเจนหรือไม่มี เนื่องจากมักมีปัญหาปลายประสาทรับความรู้สึกเสื่อมสภาพร่วมด้วย ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยากกว่าปกติ อาการอื่นที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ อาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ อาการแน่นอึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หน้าอกข้างซ้าย หรือลิ้นปี่ คล้ายอาการจุกเสียด อาหารไม่ย่อย อาการปวดร้าวที่ท้องแขนด้านใน หน้ามืด วิงเวียน เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น จะเป็นลม หรือหมดสติ

 

 

ผู้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจ?

  • มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจขณะที่มีอายุน้อยกว่าคนทั่วไป และมีความรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป
  • จะมีอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนทั่วไป เมื่อเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน
  • มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนทั่วไป 2-4 เท่า
  • มีโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1
  • มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยหญิงมากกว่าชาย
  • มักจะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดัน ไขมันสูง ทำให้มีอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจสูงขึ้น

 

 

มีวิธีการตรวจเพื่อค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานก่อนเกิดอาการ?

 

การตรวจที่ถือเป็นมาตรฐาน สำหรับค้นหาโรคนี้ คือ การตรวจสมรรถภาพหัวใจ ด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stres Test : EST) เป็นวิธีการตรวจสมรรถภาพของระบบไหลเวียน ระบบหายใจ และระบบกล้ามเนื้อโดยรวม ที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกาย ถูกนำมาใช้บ่อยในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจ และหลอดเลือดที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งจะทดสอบได้ว่า ในขณะที่ออกกำลังกายหัวใจจะมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น จะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดขึ้นหรือไม่ หากผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป บางรายจะเกิดอาการเจ็บจุกแน่นหน้าอก และอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็นโรคหัวใจอยู่

 

ดังนั้น ในผู้ที่เป็นเบาหวาน+อายุ 40 ปีขึ้นไป+มีภาวะไขมันในเลือดสูง แนะนำให้ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน(EST) เพื่อค้นหาความเสี่ยงของ การเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบตันก่อนเกิดอาการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจ ได้ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

SHARE