การลดความอ้วนในการรักษาปัจจุบัน โรคอ้วน(obesity) เป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา โรคอ้วนเป็นปัญหาที่นำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และภาวะข้อเข่าเสื่อม การลดน้ำหนักเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและมีอุปสรรคมา เนื่องจากธรรมชาติของร่างกาย มักมีการรักษาสมดุลของน้ำหนักให้คงที่ไว้ตลอด เมื่อมีการกินอาหารที่ลดลง ร่างกายจะมีการใช้พลังงานที่ลดลงตามไปด้วย จึงมักเกิดภาวะที่น้ำหนักกลับมาขึ้นใหม่ หรือโยโย่เอฟเฟกท์ การลดน้ำหนักจึงเป็นปัญหาที่ยังจัดการได้ยากมากแม้จะมีความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างปัจจุบัน ในปัจจุบัน เรามีเครื่องมือในการลดความอ้วนอะไรบ้างนอกเหนือไปจากการควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย?
Pattern of diet
ศาสตร์ของอาหาร ณ ความรู้ปัจจุบันเลย การเลือกอาหารที่มีลักษณะเฉพาะ อย่างอาหาร keto, Low carb, low fat หลักการโดยรวมยังคงเหมือนเดิมคือ หากปริมาณแคลอรีที่ร่างกายได้รับ น้อยกว่าแคลอรีที่มีการใช้ น้ำหนักก็ลดได้ ในทุกสูตรอาหาร ไม่แตกต่างกันค่ะ แต่รายละเอียด ข้อดีข้อเสียในแต่ละสูตรอาหาร มีอยู่ เช่นการกินอาหารketo อย่างไม่ถูกต้อง จะมีผลให้ค่าไขมันLDL(ไขมันเลว) สูงขึ้นในเลือดได้ และในระยะยาวจะมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบางชนิดและอาหารที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งมีความแตกต่างจากอาหารปกติที่รับประทานกันอย่างมาก เช่น ลดอาหารคาร์โบไฮเดรตเหลือเพียง 20% ของพลังงานทั้งหมดต่อวัน กินอาหารที่มีไขมันถึง 60-70%ของพลังงานทั้งหมด มักมีความยากในการรับประทานต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลาที่ยาว ทำให้การลดน้ำหนักวิธีนี้มีข้อจำกัดที่มักทำได้ในช่วงสั้นๆ ส่วนใหญ่ทำได้ไม่เกิน1ปีหรือน้อยกว่า ก็มักจะต้องเปลี่ยนกลับเและเมื่อเปลี่ยนกลับมาเป็นการกินอาหารแบบเดิม น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นมาใหม่ได้
การทำIntermittent fasting หรือ IF ก็เช่นกัน มีข้อมูลว่าอาจช่วยลดน้ำหนักได้บ้าง มีผลดีต่อการลดภาวะดื้ออินสุลิน(insulin resistance) ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปน้ำหนักมักจะคงที่มากกว่าที่จะลดอย่างต่อเนื่อง
Meal replacement
การเลือกรับประทานอาหารบางมื้อเป็นอาหารสูตรสำเร็จ มีส่วนช่วยในการควบคุมปริมาณแคลอรีในอาหาร ทำให้การเลือกอาหารง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อน อิ่มได้นาน เหมาะสำหรับทดแทนในมื้ออาหารที่มักเป็นมื้อใหญ่ที่สุดของวัน จะช่วยลดพลังงานที่ได้รับและน้ำหนักลดได้ ด้วยหลักการของการลดแคลอรี
ยาลดน้ำหนัก
ยาที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันมีคร่าวๆประมาณ 3 กลุ่มใหญ่
1.ยาป้องกันการดูดซึมของสารอาหาร เช่น ไขมัน ยาจะไปรบกวนการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ย่อยไขมันทำให้ไม่เกิดการดูดซึมไขมันในมื้ออาหารนั้น สามารถลดน้ำหนักได้ เฉลี่ยประมาณ 2 กิโลกรัม ข้อเสียคือ ผลข้างเคียงที่เกิดการถ่ายเป็นมันได้ และอาหารไทยส่วนใหญ่ มีคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารหลักมากกว่าไขมัน
- ยาที่กดความรู้สึกหิว ทำให้เบื่ออาหาร เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้าแต่มีฤทธิ์ทำให้ความอยากอาหารน้อยลง ยากลุ่มนี้ เช่น phentermine, sibutramine, naltrexone/bupropion สามารถลดน้ำหนักได้จริง ปริมาณที่ลดได้แตกต่างกัน แต่ต้องกินยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือน มีผลข้างเคียงเช่น ปากแห้ง คอแห้ง ยาหลายตัวที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในต่างประเทศยังไม่มีในไทย และยาบางตัวได้ถูกระงับการใช้ไป เนื่องจากกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้
- ยารักษาโรคเบาหวาน ที่มีผลลดความอยากอาหาร ทำให้อิ่มเร็ว มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ไม่ทำให้น้ำตาลต่ำ และทำให้น้ำหนักลดลงได้ จึงมีการนำมาใช้เพื่อการลดน้ำหนัก ควบคู่ไปกับการคุมอาหารและออกกำลังกาย สามารถลดน้ำหนักได้เฉลี่ยประมาณ 5-10% ของน้ำหนักเดิม ข้อเสียคือ เป็นยาฉีดที่ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ต้องฉีดทุกวัน มีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้ และราคายายังค่อนข้างสูงอยู่ ยากลุ่มนี้ มีการฉีดเป็นแบบสัปดาห์ละครั้งได้ แต่ผลต่อการลดน้ำหนักอาจน้อยกว่าการฉีดทุกวัน
Bariatric surgery (การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก)
เป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาโรคอ้วน แนะนำในคนที่มี BMI มากกว่า 40kg/m2 (BMI คำนวณโดยใช้
น้ำหนักตัว(กิโลกรัม)/ความสูง(เมตร)ยกกำลัง2 ) หรือ BMI มากกว่า 35 kg/m2 และมีโรคประจำตัวเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ การผ่าตัดมีหลายแบบ เช่น
1.การผ่าตัดกระเพาะออกบางส่วน (sleeve gastrectomy)
- การผ่าตัดกระเพาะและตัดลำไส้เล็กออกส่วนหนึ่ง(Roux en Y gastric bypass)
- การใส่ gastic balloon เพื่อลดปริมาตรของกระเพาะอาหารลง
การผ่าตัดแต่ละวิธี จะมีความซับซ้อนต่างกัน การใส่ gastric balloon จะทำได้ง่ายที่สุด ไม่ต้องมีการผ่าตัด สามารถนำballoon ออกได้ แต่ก็เป็นวิธีที่ลดน้ำหนักได้น้อยกว่าวิธีอื่นและน้ำหนักกลับมาเพิ่มได้ง่ายกว่าค่ะ
การผ่าตัดกระเพาะและลำไส้ออกบางส่วนนี้ ฟังดูอาจเป็นเรื่องน่ากลัว และไม่คุ้นเคยสำหรับการรักษาโรคอ้วน แต่ข้อมูลในช่วง 10ปีหลังนี้ ค่อนข้างดี สามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าการใช้ยา รักษาโรคอ้วนได้ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงควบคุมได้ดีขึ้นได้ ในหลายรายสามารถหายจากโรคเบาหวานได้เลย ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจกับรายละเอียดการผ่าตัด ผลที่ตามมาหลังการผ่าตัด เช่นต้องกินวิตามินหรือแร่ธาตุบางตัว ที่ร่างกายดูดซึมได้น้อยลง การรับประทานอาหารที่จะมีข้อจำกัดในช่วงแรกหลังผ่าตัด1-2เดือน และ โอกาสที่จะกลับมาน้ำหนักเพิ่มอีกนั้นก็ยังมีอยู่ค่ะ
โดยสรุปแล้ว การลดน้ำหนัก มักต้องเกิดจากความตั้งใจของผู้ป่วยที่จะพยายามเปลี่ยนวิถีชีวิตจากความเคยชินเดิม ไปสู่การเลือกรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายอย่างยั่งยืนถาวร ทั้งในแง่การลดน้ำหนัก, การควบคุมโรค และ สร้างสุขภาพใหม่ที่ดีขึ้น
การรับประทานอาหารในรูปแบบเฉพาะต่างๆ ยาลดน้ำหนัก หรือแม้แต่การผ่าตัดนั้น ทุกวิธี มีข้อจำกัดและมีโอกาสการกลับมาเพิ่มของน้ำหนักทั้งสิ้นค่ะ การมองหา ตัวช่วย ในการลดน้ำหนักนั้นทำได้ แต่อยากให้มอง ตัวช่วย อย่างที่มันเป็นจริงๆค่ะ หากตัวผู้ป่วยเอง ไม่สามารถจะเปลี่ยนความเคยชินเดิมๆได้ สุดท้ายแล้วการลดน้ำหนักจะเหมือนแต่การเข้าค่ายในระยะเวลาสั้นๆ ไม่สามารถเกิดผลทียั่งยืนกับร่างกายได้