โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (age-related macular degeneration : AMD) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของจุดรับภาพของจอประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นบริเวณส่วนกลางของภาพ
โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (age-related macular degeneration : AMD) แบ่งเป็น 2 ชนิด
คือ โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยกว่า เกิดจากการมีของเสียสะสมอยู่ใต้จอประสาทตาทำให้เกิดการเสื่อมของศูนย์กลางการรับภาพ ส่งผลให้การมองเห็นค่อยๆลดลงอย่างช้าๆ และโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) เกิดจากการที่มีเส้นเลือดผิดปกติงอกขึ้นมาใต้จอประสาทตาแล้วเกิดสารน้ำรั่วซึมหรือเส้นเลือดแตก มีเลือดออกใต้จอประสาทตา ทำให้เซลล์รับภาพบวม เกิดเป็นแผล ส่งผลให้มีการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อมมีอะไรบ้าง ?
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง
- การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน
อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นอย่างไร ?
- มองเห็นไม่ค่อยชัด ภาพเบลอ
- ภาพที่เห็นมีลักษณะบิดเบี้ยว
- ภาพที่เห็นมีสีผิดเพี้ยน
- มีจุดดำกลางภาพ
- ใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นได้ชัด
โรคจอประสาทตาเสื่อมรักษาอย่างไร ?
- การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด การรักษามีเป้าหมายเพื่อชะลอการดำเนินโรค โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเสื่อมของจุดศูนย์กลางการรับภาพของจอประสาทตา ตรวจตากับจักษุแพทย์สม่ำเสมอ รักษาโรคตาอื่นที่เกิดร่วม เช่น สายตาสั้น ต้อกระจก - การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก
เป้าหมายการรักษาคือการอุดหรือทำลายเส้นเลือดที่เปราะใต้จุดรับภาพเพื่อหยุดการรั่วและป้องกันการแตกของเส้นเลือด โดยการฉายแสงเลเซอร์หรือการฉีดยาเข้าวุ้นตา ในกรณีที่มีเลือดออกในวุ้นตาและใต้จอประสาทตาบริเวณจุดรับภาพสำคัญ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดล้างเลือดออก
การป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมทำอย่างไร ?
- สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง
- งดดื่มแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีสารอาหารครบถ้วน เช่น ผักใบเขียว ผลไม้สด เนื้อปลา
- ตรวจตาเป็นประจำทุกปี