
อาการมือชา แขนชา อย่ามองข้าม สัญญาณอันตรายที่ควรระวัง
หลายคนอาจเคยมือชา แขนชา รู้สึกยุบยิบหรือเจ็บแปลบเหมือนมีเข็มทิ่มใต้ผิวหนัง มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เมื่อมีการปรับเปลี่ยนท่าทางก็จะหายไปได้เอง ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ระบบไหลเวียนเลือดไม่คล่องตัว หรือการขาดวิตามินบางชนิด
แม้ว่าการชาตามร่างกายอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ แต่หากเมื่อใดที่สังเกตได้ว่ามักเกิดขึ้นบ่อยหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น รู้สึกชาร่างกายครึ่งซีกหรืออ่อนแรง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงที่ควรได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของอาการชาที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลสินแพทย์ขอพาไปเจาะลึกถึงสาเหตุว่ามีที่มาจากปัจจัยอะไรบ้าง พร้อมแนะนำวิธีสังเกตมือชา แขนชา แบบไหนที่ควรต้องรีบพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที
มือชา แขนชา คืออะไร?
มือชา แขนชา คือ อาการที่ทำให้รู้สึกเหมือนมีของแหลมคมทิ่มแทงหรือถูกไฟฟ้าช็อต อยู่ใต้ผิวหนัง เกิดจากความผิดปกติในระบบประสาท หรือการไหลเวียนเลือด โดยปกติแล้วอาการมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่หากมีภาวะเรื้อรัง อาจบ่งบอกได้ถึงปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น โรคหมอนรองกระดูก เบาหวาน รวมทั้งเป็นสัญญาณของการที่ร่างกายขาดวิตามินได้ ซึ่งผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และดำเนินการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
สาเหตุยอดฮิตที่ทำให้มือชา แขนชา
สาเหตุที่ทำให้มือชา แขนชา สามารถเกิดขึ้นได้จากโรค และปัจจัยอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับ
กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับ เป็นภาวะที่บริเวณเส้นประสาทถูกกดทับหรือมีแรงบีบคั้น ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลให้อวัยวะในบริเวณนั้นเกิดความรู้สึกชา และอ่อนแรงขึ้นได้ โดยการกดทับบริเวณเส้นประสาท สามารถมีสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc)
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นภาวะที่หมอนรองกระดูกเกิดการเคลื่อนที่มากดทับ ทำให้เกิดการชาหรือเจ็บแปลบ บริเวณที่เส้นประสาทไปเลี้ยง
โรคโพลงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis)
โรคโพลงกระดูกสันหลังตีบแคบ เป็นภาวะที่ช่องไขสันหลังตีบแคบลง ทำให้เส้นประสาทจากกระดูกสันหลังถูกกดทับ ส่งผลทำให้แขน ขา มือ มีความปวด ชา อ่อนแรง และไร้ความรู้สึก
โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome)
โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีการใช้งานข้อมือเป็นระยะเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศที่มีความจำเป็นต้องใช้งานมือตลอดทั้งวัน ทำให้มีอาการมือชา โดยเฉพาะบริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง บางครั้งอาจปวดหรือรู้สึกอ่อนแรงเกิดขึ้นได้โดยง่าย
โรคพังพืดกดทับเส้นประสาทข้อศอก (Cubital Tunnel Syndrome)
โรคพังพืดกดทับเส้นประสาทข้อศอก ภาวะที่เส้นประสาทบริเวณข้อศอกที่ทำหน้าควบคุมความรู้สึก รวมถึงการเคลื่อนไหวของนิ้วก้อย นิ้วนางถูกกดทับ ทำให้เกิดการปวดชา และอาจมีอาการมากขึ้นเมื่อมีการพับหรือกางแขนเป็นระยะเวลานาน
โรคทางระบบประสาท
โรคทางระบบประสาท เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชาได้ เนื่องจากระบบประสาททำหน้าที่สำคัญในการส่งสัญญาณจากสมองไปยังส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย หากระบบประสาทมีความบกพร่อง ย่อมทำให้เกิดความผิดปกติต่ออวัยวะต่าง ๆ ขึ้นได้ ซึ่งโรคทางระบบประสาทที่ส่งผลให้เกิดอาการแขนชา มือชา ได้แก่
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะที่เกิดการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดในส่วนที่หล่อเลี้ยงสมอง ทำให้การไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากพอ ซึ่งอาจทำให้มีอาการแขนขาชา อ่อนแรง โดยความรุนแรงสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นอัมพาตครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัดเจนได้
โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)
โรคปลายประสาทอักเสบ เป็นภาวะที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย ทำให้มักมีอาการชาจากบริเวณปลายมือหรือปลายเท้า ปวดแสบปวดร้อน และอาจมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้น
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis)
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้เกิดอาการมือชา แขนชาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากการทำงานของระบบประสาทที่เสื่อมลง เซลล์ประสาทไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการทรงตัว และมีภาวะอ่อนแรงลงในที่สุด
โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่ส่งผลโดยตรงต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง ส่งผลให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ช้าลง มีอาการมือสั่น และผู้ป่วยบางรายอาจมือชา แขนชาได้
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีความผิดปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดมีปริมาณสูงมากเกินไป หากไม่ได้รับการควบคุม และรักษาที่ดี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ เช่น อาการชาบริเวณมือ และนิ้ว
การขาดวิตามิน
การขาดวิตามินบางชนิด อาจทำให้เกิดอาการมือชา แขนชาได้ โดยเฉพาะวิตามินที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงระบบประสาท เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และวิตามินอี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการทำงานของเส้นประสาท รวมถึงการส่งสัญญาณจากสมองสู่อวัวยะอื่น ๆ ในร่างกาย
การบาดเจ็บ
การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะบริเวณมือ แขน ข้อศอก อาจทำให้เส้นประสาทได้รับความเสียหายหรือถูกกดทับส่งผลให้การนำส่งสัญญาณจากสมองไปยังอวัยวะต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้ตามปกติ และความความรุนแรงของผลกระทบนี้อาจนำไปสู่อาการชา เจ็บแปลบ รวมถึงการสูญเสียความรู้สึกบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บในที่สุด
อาการมือชา แขนชา แบบไหนที่ต้องรีบพบแพทย์?
อาการมือชา แขนชา อาจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาอย่างทันท่วงที โดยสามารถสังเกตได้จากลักษณะดังต่อไปนี้
- อาการชาเรื้อรัง : ลักษณะที่มีอาการแขนชา มือชา ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์
- ความอ่อนแรง : อาการชา ร่วมกับแขน ขา ไม่มีแรง และไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เช่น การหยิบจับสิ่งของได้อยากลำบาก
- อาการปวด : อาการชา ร่วมกับการปวด เจ็บแปลบ อาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาท และกล้ามเนื้อ
- อาการอื่น ๆ : เช่น เวียนหัว มองเห็นผิดปกติ พูดไม่ชัด อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคทางหลอดเลือดสมอง หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทที่ควรต้องได้รับการรักษาอย่างเร็ว
วิธีรักษาอาการมือชา แขนชา
วิธีรักษาอาการมือชา แขนชา มีแนวทางดังต่อไปนี้
- การรักษาด้วยยา : เช่น ยาบรรเทาปวด ยาต้านการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวด และชา
- การกายภาพบำบัด : เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ และช่วยลดการกดทับบริเวณเส้นประสาท
- การฉีดยา : เช่น ยาสเตียรอยด์ บริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับ เพื่อบรรเทาอาการ และลดการอักเสบ
- การผ่าตัด : หากดำเนินการรักษามาสักระยะแล้วไม่เห็นผล หรือมีแนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัด เพื่อลดการกดทับบริเวณเส้นประสาท
วิธีป้องกันอาการมือชา แขนชา
วิธีป้องกันอาการมือชา แขนชา สามารถเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการดูแลสุขภาพดังนี้
- ปรับพฤติกรรม เช่น การปรับท่านั่งให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการอยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ การยกของหนัก ซึ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่กระดูกหรือเส้นประสาท
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง : หมั่นออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินที่จำเป็นต่อการบำรุงระบบประสาท และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ในปริมาณมาก เพราะอาจส่งผลให้ระบบประสาทได้รับความเสียหายได้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการมือชา แขนชา (FAQ)
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการมือชา แขนชา มีดังนี้
อาการมือชา แขนชา เกิดจากการนอนทับแขนนาน ๆ ได้หรือไม่?
อาการมือชา แขนชา สามารถเกิดขึ้นได้จากการนอนทับแขนนาน ๆ ได้ เนื่องจากท่านอนนั้นอาจมีการกดทับเส้นประสาท และการไหลเวียนเลือดถูกขัดขวาง เมื่อมีการปรับเปลี่ยนท่าทาง อาการเหล่านี้ก็จะหายไปได้เอง แต่ถ้าหากมีการเปลี่ยนท่าทางแล้ว อาการยังไม่หายไป หรือมีลักษณะอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวด เจ็บแปลบ ควรรีบเข้าพับแพทย์เพื่อตามหาสาเหตุที่อาจมีโรคร้ายแรงแทรกซ้อนอยู่
การดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่ออาการมือชา แขนชา หรือไม่?
การดื่มแอลกอฮอล์อาจมีผลต่ออาการมือชา แขนชา เนื่องจากเครื่องดื่มชนิดนี้จะเข้าไปทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย และดึงวิตามินที่สำคัญออกจากร่างกาย รวมทั้งมีฤทธิ์ในการกดประสาทส่วนกลาง ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบประสาท เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชาขึ้นได้
การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการมือชา แขนชา หรือไม่?
การสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการมือชา แขนชาได้ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่ จะทำให้หลอดเลือดตีบ และแข็งตัว ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดที่ไม่หล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ลดน้อยลง รวมถึงสารพิษนั้นสามารถทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งก่อให้เกิดอาการชา หรือรู้สึกมีของแหลมคมมาจิ้มอยู้ใต้ผิวหนังนั่นเอง