stop smoking!

9 พ.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทุกๆ ประเทศตระหนักถึงอันตรายและความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่

ในปี 2548 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือทีมสุขภาพร่วมใจขจัดภัยบุหรี่ ( Health Professionals And Tobacco Control) โดยการสนับสนุนให้บุคลากรสาธารณสุขอันได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ รวมถึงแพทย์เฉพาะทางต่าง ๆ พยาบาล เภสัชกร และนักวิชาการสาธารณสุข แสดงบทบาทในการเป็นผู้นำในการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่

 

สารอันตรายในบุหรี่

ควันบุหรี่จะประกอบไปด้วยสารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพกายของคนเราประมาณ 4,000 ชนิด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มแรกได้แก่ ทาร์ หรือ น้ำมันดิน หรือที่เห็นเป็นคราบบุหรี่ เป็นที่รวมของสารเคมีในกลุ่มของไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะรวมตัวเป็นสารที่มีความเหนียวติดอยู่กับเนื้อปอด และมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งโดยตัวของมันเอง นอกจากนี้ยังเป็นสารที่เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หากผู้สูบบุหรี่นั้นมีโรคมะเร็งอยู่ในร่างกายแล้ว
  • กลุ่มที่สอง ได้แก่ นิโคติน ซึ่งจัดเป็นสารที่มีการกระตุ้นสมอง และประสาทส่วนกลางได้ในระยะแรก แต่ระยะต่อมาจะมีฤทธิ์กดระบบประสาท นอกจากนี้ยังทำให้เส้นเลือดหดตัว มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น กระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้นด้วย นิโคตินมีส่วนทำให้คนที่สูบบุหรี่อยากสูบอยู่เรื่อยๆ
  • กลุ่มที่สาม ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์ ซึ่งมีความเข้มข้นสูงในควันบุหรี่จะไปขัดขวางการรับออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง และยังทำให้ไขมันพอกพูนตามผนังเส้นเลือดมากขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ สายตาเสื่อม ลดประสิทธิภาพในการตัดสินใจ และลดการตอบสนองต่อเสียง ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนขับรถ นักบิน และมีผลทำให้สมรรถภาพของนักกีฬาลดน้อยลง

 

โทษของบุหรี่

การสูบบุหรี่นั้นถือเป็นการทำลายสุขภาพ ทั้งต่อผู้สูบเองและผู้อยู่ใกล้ชิดที่สูดเอาอากาศที่มีควันบุหรี่เข้าไป เพราะควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีสารก่อมะเร็ง ไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด ซึ่งสารอันตรายที่สำคัญ เช่น

  • คาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่ากับเวลาปกติ หากได้รับจะเกิดการขาดออกซิเจน ทำให้มึนงง ตัดสินใจช้า เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ
  • นิโคติน เป็นสารระเหยในควันบุหรี่ มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง มีผลต่อต่อมหมวกไต ทำให้เกิดการหลั่งอิพิเนฟริน ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจ เต้นเร็วกว่าปกติ และไม่เป็นจังหวะ หลอดเลือดที่แขนและขาหดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด (ก้นกรองไม่ได้ทำให้ปริมาณนิโคตินลดลงได้)
  • ทาร์ หรือน้ำมันดินเป็นคราบมันข้นเหนียว สีน้ำตาลแก่ เกิดจากการเผาไหม้ของกระดาษและใบยาสูบ และเป็นสารก่อมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด, กล่องเสียง, หลอดลม. หลอดอาหาร, ไต, กระเพาะปัสสาวะ และอื่นๆ ร้อยละ 50 ของน้ำมันดินจะไปจับที่ปอด เกิดระคายเคือง ทำให้ไอเรื้อรัง มีเสมหะ
  • ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นต้อกระจก เนื่องจากสารพิษในบุหรี่จะเข้าสู่เลนส์ตา ทำให้ตาขุ่นมัว ยิ่งสูบมากก็ยิ่งมีโอกาสมาก
  • เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด บุหรี่ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว เกิดการตีบตัน หากมีการออกกำลังกายหนักๆ อาจมีโอกาสเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน
  • โรคปอด โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสูบบุหรี่ โดยจากข้อมูลพบว่าเพียงแค่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง สามารถมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า!

 

โรคมะเร็งปอด มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 20 เท่า

มะเร็งปอด (lung cancer)  เป็นโรคที่พบมาก และเป็นสาเหตุการตายในอันดับต้นๆ ทั้งเพศชาย และหญิงในประเทศไทย และอุบัติการณ์ของโรคนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเพศหญิง ผู้ป่วยมะเร็งปอดร้อยละ 90 เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ ธรรมชาติทางชีววิทยาของโรคมะเร็งปอด ทำให้พบผู้ป่วยเมื่อเริ่มมีอาการ ในขณะที่โรคอยู่ในระยะลุกลาม และแพร่กระจาย เป็นผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 90 เสียชีวิตจากโรคมะเร็งภายในเวลา 1-2 ปี โรคมะเร็งปอดพบมากในผู้สูงอายุวัย 50-75 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ปริมาณมาก และประมาณร้อยละ 5 เป็นผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น ผู้ที่สูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่นจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่ม ขึ้นร้อยละ 26 จำนวนมวนของบุหรี่ที่สูบต่อวัน และชนิดของบุหรี่ที่สูบจะสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด ผู้ที่สูบบุหรี่ร้อยละ 15 จะเกิดโรคมะเร็งปอดภายในเวลา 30 ปี ถ้าเลิกสูบบุหรี่สามารถลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดลงเหลือเท่าผู้ ไม่สูบบุหรี่

 

แนวทางการเลิกบุหรี่ในปัจจุบัน

  • กำลังใจอย่างเดียว ในการเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองโดยอาศัยกำลังใจอย่างเดียว พบว่าส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จน้อยและมักกลับมาสูบอีก
  • วิธีการอื่น ๆ เช่น การใช้พฤติกรรมบำบัด การทำกิจกรรมกลุ่ม การใช้น้ำยาบ้วนปาก (ซึ่งทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป) การสะกดจิตและการฝังเข็ม หลักฐานที่จะนำมาสนับสนุนผลความสำเร็จของวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ยังขาดอยู่มาก
  • การใช้ยาในการรักษาการติดนิโคติน การใช้ยาสามารถช่วยลดความทรมานจากการติดทางร่างกายได้ ทำให้เราสามารถทุ่มเทกำลังใจในการต่อสู้กับการติดทางจิตใจได้เต็มที่ ในปัจจุบันมีการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่
SHARE