
คุมได้แต่ไม่หายขาด “สะเก็ดเงิน” โรคผิวหนังที่เป็นแล้วต้องดูแลให้ดี
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังมีการแบ่งตัวเร็วมากเกินไปจนเกิดเป็นผื่นตามร่างกาย ประเภทที่พบบ่อยคือผื่นหนาสีแดงปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวเงิน จึงเรียกว่า ‘โรคสะเก็ดเงิน’ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายตำแหน่งของร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ข้อศอก เข่า หลังมือ หลังเท้า รวมไปถึงบริเวณรอยพับ เช่น ขาหนีบและรักแร้ โดยแต่ละตำแหน่งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อความรุนแรงของอาการและแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาโรคให้หายขาด แต่ก็สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการรักษาทางการแพทย์และการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม
โรคสะเก็ดเงิน เกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร สาเหตุหลักของโรคสะเก็ดเงินเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยร่างกายเข้าใจผิดว่าเซลล์ผิวหนังปกติเป็นสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรียหรือไวรัส ส่งผลให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ผิวหนังที่ยังดีอยู่ คล้ายกับการตอบสนองต่อการติดเชื้อ ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ จนเกิดการอักเสบ และสะสมเป็นแผ่นหนาบนผิวหนัง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้มีอาการเกิดขึ้น ได้แก่:
- พันธุกรรม (Genetics) : พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน
- ความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ : ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงทำให้อาการของโรคกำเริบหรือรุนแรงขึ้น
- สิ่งแวดล้อม (Environmental Factors) : อากาศที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด การสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน หรือแม้แต่การถูกแมลงสัตว์กัดต่อย
- การบาดเจ็บที่ผิวหนัง : เช่น การเกา การถลอก หรือแผลหลังการผ่าตัด ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบและกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินแสดงอาการมากขึ้น
- การติดเชื้อไวรัส : เช่น ไรโนไวรัส (Rhinoviruses), ไวรัสเอชไอวี (HIV), ไวรัสเอชพีวี (HPV) และไวรัสตับอักเสบซี (HCV)
- การติดเชื้อแบคทีเรีย : เช่น การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) ที่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของคออักเสบและทอนซิลอักเสบ
- ยาบางชนิด: เช่น ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blockers) ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง และยาลิเทียม (Lithium) ที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช
โรคสะเก็ดเงิน ติดต่อได้ไหม
โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ แม้ว่าจะเป็นโรคผิวหนังที่เห็นได้ชัดและอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ความจริงแล้ว โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเอง ไม่สามารถติดต่อผ่านการสัมผัส การใช้สิ่งของร่วมกัน หรือผ่านทางอากาศ แต่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
โรคสะเก็ดเงิน มีอาการอย่างไร
อาการของโรคสะเก็ดเงินอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปมักพบอาการดังต่อไปนี้
- มีผื่นแดงนูนหนา และปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวเงิน
- อาการคัน แสบ หรือเจ็บบริเวณผื่น
- ผิวแห้ง แตก และอาจมีเลือดออก
- เล็บผิดปกติ เช่น เล็บหนาขึ้น มีร่องหรือจุดใต้เล็บ
- ในบางรายอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย (สะเก็ดเงินข้ออักเสบ)
โรคสะเก็ดเงิน รักษาอย่างไร
แม้ว่าโรค สะเก็ดเงิน จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการและลดความรุนแรงของโรคได้ด้วยแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาจะถูกปรับให้เหมาะกับระดับความรุนแรงของแต่ละบุคคล การดูแลที่ถูกต้องสามารถช่วยบรรเทาอาการ ลดการอักเสบของผิวหนัง และป้องกันไม่ให้เกิดอาการกำเริบได้ โดยแพทย์อาจใช้วิธีรักษาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
รักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยาถือเป็นแนวทางหลักในการควบคุมอาการของโรคสะเก็ดเงิน โดยยาจะมีทั้งแบบทา และ รับประทาน ซึ่งจะถูกเลือกให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรคและตำแหน่งที่เกิดอาการ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมีดังต่อไปนี้
- ยาทาสเตียรอยด์ ใช้ลดการอักเสบและควบคุมอาการ
- ยาทากลุ่มอนุพันธ์วิตามินดี (Calcipotriol) ช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง
- ยากดภูมิคุ้มกันชนิดทา (Tacrolimus, Pimecrolimus) ใช้สำหรับบริเวณที่ผิวบอบบาง เช่น ใบหน้า หรือรอยพับของร่างกาย
- ยารับประทานกลุ่มอาซิเทรติน (Acitretin) ช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังและควบคุมอาการของโรค
- ยารับประทานกลุ่มเมโธเทรกเซต (Methotrexate) ใช้กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง
- ยารับประทานกลุ่มไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ใช้ในกรณีที่โรครุนแรงปานกลางถึงมาก
รักษาด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต (UV)
การรักษาด้วยแสง หรือการฉายแดด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดอาการของโรคสะเก็ดเงินได้ โดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตเพื่อชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง ลดการอักเสบ และช่วยให้ผิวหนังกลับมามีสุขภาพดีขึ้น วิธีการรักษาด้วยแสงมีหลายประเภท ได้แก่
- การฉายแสงยูวีบี (UVB Light Therapy) เป็นการใช้แสงอัลตราไวโอเลตบีชนิดคลื่นแคบ (NB-UVB) ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และเป็นที่นิยมในการรักษา
- การฉายรังสีอัลตราไวโอเลต เอ พูว่า (PUVA Therapy) เป็นการรักษาที่ใช้รังสี UVA ร่วมกับยาเซอราเลน (Psoralen) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง
- การฉายแสง Excimer Light ใช้รังสีอัลตราไวโอเลตคลื่นสั้น (UV 380 nm) ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยสามารถกรองรังสีที่เป็นอันตรายออกไปได้ ช่วยปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ และเป็นการรักษาที่ไม่ทำให้ผิวไหม้เกรียมหรือเจ็บปวดระหว่างการรักษา
รักษาด้วยการฉีดยากลุ่มชีวภาพ
รักษาด้วยการฉีดยากลุ่มชีวภาพ (Biological agents) ซึ่งเป็นยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง เพื่อลดการอักเสบและชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง ทำให้ช่วยควบคุมอาการของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยากลุ่มนี้มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น โดยต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงที่ต้องติดตาม เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำลง หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
วิธีดูแลตัวเอง เมื่อป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด อากาศแห้ง หรือการใช้สบู่แรง ๆ
- ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์เป็นประจำ เพื่อป้องกันผิวแห้งและลดอาการคัน
- หลีกเลี่ยงการเกาผิวหนัง เพราะอาจทำให้เกิดแผลและกระตุ้นอาการให้แย่ลง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง
- ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- หากได้ยารับประทานหรือยาฉีดที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันอยู่ ควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากยาบางชนิดมีปฏิกิริยาต่อกัน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
ปรึกษาโรคผิวหนังที่แผนกผิวหนัง และ ศัลยกรรมเลเซอร์ สินแพทย์ เสรีรักษ์
หากคุณมีอาการของโรคสะเก็ดเงินหรือโรคผิวหนังอื่น ๆ และต้องการคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ พร้อมให้การดูแลและให้คำปรึกษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง พร้อมด้วยเทคโนโลยีและแนวทางการรักษาที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา แสง UV หรือการใช้ยากลุ่มชีวภาพเพื่อควบคุมอาการอย่างมีประสิทธิภาพ
ติดต่อสอบถามและนัดหมายแพทย์ ได้ที่แผนกผิวหนังและศัลยกรรมเลเซอร์ โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ เพื่อรับการดูแลที่เหมาะสมกับคุณ