
เซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) หรือ โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย มักเกิดในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า ลำตัวส่วนบน แม้ไม่ใช่โรคติดต่อหรือโรคที่มีอันตรายร้ายแรง แต่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ ดังนั้นการทำความเข้าใจต่อตัวโรคเพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเองและรับการรักษาที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เซ็บเดิร์มเกิดจากสาเหตุอะไร ?
ปัจจุบันสาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยต่างๆที่อาจทำให้เกิดโรค ดังนี้
- การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ
- เชื้อราหรือยีสต์ส่วนเกินบนผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง
- การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนแอนโดรเจนที่สูงขึ้น
- ความผิดปกติของระบบประสาท ทำให้ไขมันบนผิวหนังถูกผลิตมากเกินไป
- ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ภาวะความเจ็บป่วยทางกาย ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น อากาศเย็นหรือแห้ง อากาศร้อนจัด
- การสัมผัสสิ่งระคายเคือง ฝุ่น และมลภาวะ
- ปัจจัยทางพันธุกรรม การมีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้
อาการของเซ็บเดิร์มเป็นอย่างไร ?
- ผื่นแดง คัน ลอกเป็นขุย หรือสะเก็ดสีขาวเหลืองคล้ายรังแค ขอบเขตไม่ชัดเจน
- ผื่นมักขึ้นในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า โดยเฉพาะหัวคิ้ว ข้างจมูก หลังหู หน้าอก และหลังส่วนบน
- ผื่นมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ อาจมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อมีความเครียด หรืออากาศเปลี่ยนแปลง
- อาจมีผมร่วงบริเวณที่เป็นผื่น
การรักษาเซ็บเดิร์มทำอย่างไร ?
เซ็บเดิร์มเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ร่วมกับการดูแลป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ หรือลุกลาม
- ยาใช้ภายนอก ได้แก่ การใช้ยาทาหรือแชมพูที่มีส่วนผสมของ เซเลเนียมซัลไฟด์ ซิงก์พิริไทโอน ทาร์ ยาต้านเชื้อราคีโตโคนาโซล การใช้สเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์อ่อนทาภายนอก
- ยารับประทาน ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อยาใช้ภายนอก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาต้านเชื้อราหรือสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน แต่การใช้ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ผู้ที่เป็นเซ็บเดิร์มควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณผื่น เพราะอาจทำให้ระคายเคืองและเกิดการติดเชื้อ
- ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะสม ไม่ระคายเคืองผิว ไม่เป็นกรดด่างมากเกินไป หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- รักษาความสะอาดของผิวหนังและหนังศีรษะ ไม่ใช้เครื่องสำอางบริเวณที่เป็นผื่นเพื่อป้องกันการอุดตันของชั้นผิวหนัง