เตรียมตัววิ่งอย่างไร ลดความเสี่ยงไตบาดเจ็บ ? การเตรียมตัวและการป้องกันภาวะไตบาดเจ็บหลังการวิ่ง
การวิ่ง เป็นการออกกำลังกายที่ใคร ๆ ก็สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ทำได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมมากนัก อีกทั้งการวิ่งยังเป็นการออกกำลังกายที่ได้ใช้กล้ามเนื้อแทบทุกส่วนของร่างกาย ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของระบบหัวใจและหลอดเลือด ถือเป็นการออกกำลังกายที่มีประโยชน์มากประเภทหนึ่ง
การวิ่งเสี่ยงต่อไตบาดเจ็บได้อย่างไร ?
ภาวะไตบาดเจ็บหลังการวิ่งโดยเฉพาะการวิ่งระยะไกล เช่น การวิ่งมาราธอน อัลตร้ามาราธอน เป็นภาวะที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในขณะวิ่งร่างกายจะเพิ่มการส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลายและหัวใจ ทำให้มีเลือดส่งไปเลี้ยงไตลดลง นอกจากนี้การวิ่งระยะไกลทำให้เกิดการสลายของกล้ามเนื้อ ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อแตก และอาจมีการปล่อยไมโอโกลบิน (Myoglobin) ปริมาณมากเข้าสู่กระแสเลือด ไมโอโกลบินนี้เป็นโปรตีนขนาดใหญ่ที่อาจทำให้เกิดการอุดตันภายในท่อไต ในกรณีที่เป็นรุนแรงก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะหากร่างกายมีสภาวะขาดน้ำในขณะวิ่ง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บของไตได้สูงขึ้น
การเตรียมตัวและการป้องกันภาวะไตบาดเจ็บหลังการวิ่ง
– ดื่มน้ำและเกลือแร่ในปริมาณที่เหมาะสม หากวิ่งระยะสั้นใช้เวลาน้อยกว่า 1 ชม. นักวิ่งควรดื่มน้ำเปล่าชดเชยเท่าปริมาณเหงื่อที่เสียไป แต่หากเป็นการวิ่งระยะไกลนานกว่า 1 ชม. นักวิ่งควรดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชย และเมื่อวิ่งเสร็จแล้ว นักวิ่งควรดื่มน้ำทดแทนเท่ากับน้ำหนักตัวที่หายไปในระหว่างการวิ่ง
– หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ก่อนวิ่ง
– หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนเกินไป ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
– ไม่วิ่งหนักเกินความพร้อมของสภาพร่างกายในขณะนั้น หลีกเลี่ยงการวิ่งขณะมีอาการเจ็บป่วย เช่น เป็นไข้
– ในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง ไม่ควรวิ่งหนักเกินไป
– หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นพิษต่อไตก่อนและหลังการวิ่ง เช่น ยากลุ่ม NSAIDS
– สังเกตุอาการผิดปกติหลังออกกำลังกาย หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นสีโค้ก ปัสสาวะออกน้อย ปวดบวมกล้ามเนื้อรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์
ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคไต ที่โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ