
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS : Polycystic Ovary Syndrome) คือ ภาวะที่มีความไม่สมดุลของฮอร์โมนทำให้เกิดความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ โดยจะพบลักษณะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ มีความผิดปกติของประจำเดือน การตั้งครรภ์ รวมไปถึงเกิดความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึมของร่างกาย ภาวะนี้พบได้บ่อยถึงร้อยละ 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์
สาเหตุของ PCOS คืออะไร ?
กลไกการเกิดภาวะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- ปัจจัยทางพันธุกรรม มักพบคนในครอบครัวมีประวัติ PCOS
- ภาวะดื้ออินซูลิน
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมน โดยเฉพาะระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนที่สูง
อาการของ PCOS เป็นอย่างไร ?
- ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนขาด มาไม่สม่ำเสมอ มาน้อย
- มีภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากการตกไข่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตกไข่
- อาการจากฮอร์โมนเพศชายสูง เช่น สิว ผิวมัน ขนดก ผมร่วง
- มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน
ภาวะแทรกซ้อนของ PCOS มีอะไรบ้าง ?
ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัย PCOS ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังนี้
- เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื่องจากภาวะตกไข่ไม่สม่ำเสมอ
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ไขมันในเลือดสูง
- ความดันโลหิตสูง
- กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome)
- โรคหลอดเลือดสมองหรือหลอดเลือดหัวใจ
- ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
- ภาวะมีบุตรยาก แท้งบุตรง่าย ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ
การวินิจฉัย PCOS ทำอย่างไร ?
- การถามประวัติอาการ ประวัติรอบประจำเดือน
- การตรวจร่างกายหาอาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายสูง เช่น หน้ามัน สิว ขนดก ศรีษะล้าน การประเมินภาวะอ้วนลงพุง
- การตรวจภายในร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ในอุ้งเชิงกราน เพื่อตรวจดูถุงน้ำรังไข่
- การตรวจเลือด เพื่อประเมินระดับฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนอื่นๆ เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมน ฮอร์โมนต่อมใต้สมอง ฮอร์โมนต่อมหมวกไต การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและระดับไขมันในเลือด
การรักษา PCOS ทำอย่างไร ?
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงความเครียด
- การใช้ยา ในผู้ที่ยังไม่ต้องการมีบุตรแพทย์จะให้ยาฮอร์โมนเพื่อช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่ต้องการมีบุตรแพทย์จะรักษาด้วยยากระตุ้นการตกไข่ หากไม่ได้ผลอาจต้องรับการผ่าตัดเพื่อกระตุ้นการตกไข่และช่วยการตั้งครรภ์
- ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อน โดยการป้องกันหรือรักษาภาวะดื้ออินซูลิน โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว