วิธีฟอกไตแบบใหม่ ไม่ต้องพักฟื้น พร้อมตามหาความจริง โรคไตเกิดจากอะไร

27 พ.ย. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

วิธีฟอกไตแบบใหม่ ไม่ต้องพักฟื้น พร้อมตามหาความจริง โรคไตเกิดจากอะไร

เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

โรคไต เป็นหนึ่งในโรคที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปัจจุบันพบว่าจำนวนคนป่วยด้วยโรคนี้มีมากกว่าล้านคน ป่วยด้วยภาวะไตวายเรื้อรังในระยะที่ 4 และระยะที่ 5 และกำลังรอที่จะได้รับการฟอกไตอีกจำนวนหลักหมื่น ซึ่งในอดีต การฟอกไตอาจจะต้องใช้เวลานาน และเกิดผลข้างเคียงเยอะ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ช้า ในบางรายอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิต แต่ไม่ใช่กับในปัจจุบัน ที่มีวิวัฒนาการก้าวกระโดดรองรับการรักษาเกี่ยวกับโรคไตมากยิ่งขึ้น วันนี้จะมาพูดเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดของโรคนี้ ว่าโรคไตเกิดจากอะไร วิธีฟอกไตแบบใหม่ ที่ใช้เวลาพักฟื้นน้อย และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมถึงการเตรียมตัวก่อนฟอกไต

 

เมื่อไหร่ที่ต้องเข้ารับการฟอกไต

เมื่อไหร่ที่ต้องเข้ารับการฟอกไต นี่คือข้อคำถามที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะกังวลกันอยู่ โดยการฟอกไต จะเกิดขึ้นเมื่อโรคไตวายเรื้อรังเข้าสู่ระยะที่ 5 มีค่า eGFR น้อยกว่า 15 (มล./นาที/1.73 ตร.ม.) เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ต้องได้รับการฟอกไตภายใน 1 ปี 

แต่ถ้าหากอยู่ ๆ ผู้ป่วยมีอาการซึมลง, เลือดเป็นกรด, อ่อนเพลีย, ปัสสาวะออกน้อย และเกลือแร่ในกระแสเลือดเกิดการผิดปตกิ รวมไปถึงที่สังเกตได้จากภายนอกอย่างอาการบวมทั้งตัว แนะนำให้รีบนำส่งผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพื่อฟอกไตฉุกเฉินทันที

 

โรคไต มีกี่ประเภท

โรคไต มี 2 ประเภท ได้แก่ ไตวายเรื้อรังและไตวายเฉียบพลัน โดยในส่วนนี้เราจะมาพูดถึงแต่ละประเภทให้ได้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น ทั้งสาเหตุและวิธีการรักษา

ไตวายเฉียบพลัน

โรคไตวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะแสดงออกมาภายใน 1 วันถึง 1 สัปดาห์ แสดงอาการรวดเร็วและรุนแรงกว่าไตวายเรื้อรัง โดยสังเกตได้จากระดับเกลือแร่ในร่างกายเกิดความผิดปกติ มีค่าโพแทสเซียมสูงขึ้น ค่าเลือดเป็นกรด ปัสสาวะไม่ออก หรือออกน้อย ชนิดนี้หากรักษาได้ทันท่วงที ไตจะสามารถกลับมาทำงานปกติได้

 

สาเหตุ

สาเหตุการเกิดโรคไตวายเฉียบพลัน เกิดจากร่างกายขาดสารน้ำที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เกิดการติดเชื้อในร่างกาย เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด รับประทานยาบางตัวที่ส่งผลกระทบต่อไตโดยตรง

 

ระยะของไตวายเฉียบพลัน

ระยะของไตวายเฉียบพลัน แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 ปัสสาวะน้อยกว่า 0.5 cc/น้ำหนักตัว 1 กก./ชั่วโมง ในระยะเวลา 6-12 ชั่วโมง และมีค่าครีอะตินีนในเลือดสูงกว่าปกติ 1.5-1.9 เท่า และเพิ่มขึ้น 0.3 mg/dl 
  • ระยะที่ 2 ปัสสาวะน้อยกว่า 0.5 cc/น้ำหนักตัว 1 กก./ชั่วโมง ในระยะ 12 ชั่วโมง ขึ้นไปและมีค่าครีอะตินีนในเลือดสูงกว่าปกติ 2.0-5.9 เท่า
  • ระยะที่ 3 ปัสสาวะน้อยกว่า 0.3 cc/น้ำหนักตัว 1 กก./ชั่วโมง ในระยะ 24 ชั่วโมง หรือไม่มีปัสสาวะเลยกว่า 12 ชั่วโมง และมีค่าครีอะตินีนในเลือดสูงกว่าปกติ ตั้งแต่ 3 เท่า หรือมีค่า cr. 4.0 mg/dl ขึ้นไป

 

วิธีการรักษา

วิธีรักษาโรคไตวายเฉียบพลัน สามารถทำได้โดยรักษาที่ต้นเหตุ เช่น หากร่างกายติดเชื้อ ก็ให้ยาฆ่าเชื้อ ร่างกายขาดน้ำก็ให้สารน้ำ หรือในกรณีที่ไตทำงานผิดปกติ มีโพแทสเซียมในเลือดในปริมาณที่สูง ก็ต้องใช้วิธีบำบัดทดแทนไต

 

ไตวายเรื้อรัง

โรคไตวายเรื้องรัง จะค่อย ๆ แสดงอาการออกมาทีละนิด เนื่องจากร่างกายสามารถปรับตัวกับความผิดปกติได้เรื่อย ๆ กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคนี้ ก็จะใช้ระยะเวลาเป็นเดือน หรือเป็นปี ไตจะถูกทำลายถาวร และมักจะไปพบแพทย์ด้วยอาการเด่น ๆ อย่าง ร่างกายเริ่มบวม คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย 

 

สาเหตุ

สาเหตุการเกิดโรคไตวายเรื้องรัง เกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และผู้ป่วยที่มีภาวะไตอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

 

ระยะของไตวายเรื้อรัง

ระยะของไตวายเรื้อรัง แบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 eGFR > 90 เริ่มมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แต่ยังมีอันตรากรองไตที่ปกติ 
  • ระยะที่ 2 eGFR 60-90 มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และอัตรากรองไตเริ่มลดลง
  • ระยะที่ 3a eGFR > 45-59 อัตรากรองไตเริ่มลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง
  • ระยะที่ 3b eGFR > 30-44 อัตรากรองไตเริ่มลดลงปานกลางถึงลดลงมาก
  • ระยะที่ 4b eGFR > 15-29 อัตรากรองไตลดลงมาก
  • ระยะที่ 5 eGFR < 15 เข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย

*ค่า eGFR เป็นค่าปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองไตภายใน 1 นาที ยิ่งไตมีค่าตัวนี้มากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงสุขภาพไตของคุณแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น

 

วิธีการรักษา

วิธีรักษาโรคไตเรื้องรังนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ ระยะ และโรคแทรกซ้อน โดยการรักษา แบ่งได้หลัก ๆ ดังนี้

  • ควบคุมโรคประจำตัว ควบคุมอาหาร รักษาด้วยยาตามอาการ
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และออกกำลังกาย
  • ล้างไตทางช่องท้อง โดยล้างวันละ 4 รอบ และต้องทำต่อเนื่องทุกวัน 
  • ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) วิธีนี้จะใช้เวลาเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อครั้ง และทำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
  • ปลูกถ่ายไต

ฟอกไต เตรียมตัว

 

ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนฟอกไต

ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนฟอกไต สามารถทำได้โดย

  • ชั่งน้ำหนักทุกครั้งก่อนการฟอกเลือด
  • หากมีโรคประจำตัว คือ โรคความดันโลหิต ให้งดทานยาลดความดันก่อนการฟอกเลือด 4-6 ชั่วโมง
  • หากพบเลือดออกตามไรฟัน มีอาการอาเจียน อุจจาระเป็นเลือด หรือสีดำ มีประจำเดือน เตรียมตัวทำฟัน หรือกำลังจะต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ  ควรแจ้งให้พยาบาลทราบ เพื่อจะได้ลดหรืองดยาที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ในตอนที่กำลังฟอกเลือด และลดความเสี่ยงที่อันตรายไปได้
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความดันสูงมาก ๆ หลังจากทำการฟอกเลือดแล้วค่าความดันไม่ลดลง แต่ในทางกลับกันกลับสูงขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัว เพื่อพิจารณา ปรับวิธีการทานยาลดความดัน ก่อนจะมาฟอกเลือดในครั้งถัดไป

 

วิธีการดูแลตัวเองหลังฟอกไต

วิธีการดูแลตัวเองหลังฟอกไต สามารถทำได้โดย

  • หากมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ หรืออาเจียน ควรแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลทราบ เพื่อปรับน้ำหนักตัวแห้งใหม่ ให้เหมาะสมกับร่างกาย
  • พยาบาลจะทำการใช้ผ้าก๊อซในการปิดแผล จนมั่นใจว่าจะไม่มีเลือดออก และจะทำการปิดพลาสเตอร์ยาก่อนกลับบ้าน หากมีเลือดซึม ให้กลับมาโรงพยาบาลทันที
  • ระวังการหกล้ม หรือการกระแทกแรง ๆ จะทำให้ร่างกายฟกช้ำ เนื่องจากตอนฟอกเลือด จะมีการให้ยาละลายลิ่มเลือด เป็นการฉีดเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือดขณะฟอกเลือด

 

ผลข้างเคียงหลังจากฟอกไต

ผลข้างเคียงหลังจากฟอกไตที่พบบ่อย ได้แก่ 

  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • คันตามร่างกาย
  • ร่างกายติดเชื้อ
  • ปัญหาเกี่ยวกับกระดูก
  • ภาวะซึมเศร้า

 

ศูนย์ไตเทียม บริการฟอกไต ที่สินแพทย์ ศรีนครินทร์

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียง และมีแผนกอายุรกรรมโรคไตที่ให้บริการฟอกไตแก่ผู้ป่วย โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคไต และพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี คอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยจุดเด่นของอายุรกรรมโรคไตมีดังนี้

  • เทคโนโลยีที่ทันสมัย : มีเครื่องฟอกไตที่ทันสมัย และใช้น้ำยาฟอกไตที่มีคุณภาพสูง
  • มาตรฐานการรักษา : ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
  • ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด : มีทีมแพทย์และพยาบาลคอยดูแลผู้ป่วยตลอดระยะเวลาการฟอกไต
  • สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน : มีห้องพักผู้ป่วยที่สะอาดและสะดวกสบาย

 

บริการของศูนย์ไตเทียม มีอะไรบ้าง

ศูนย์ไตเทียมโดยทั่วไปจะให้บริการดังต่อไปนี้

  • การฟอกไต : เป็นการทำความสะอาดเลือดโดยใช้เครื่องฟอกไต
  • การปลูกถ่ายไต : สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาในระยะยาว
  • การตรวจวินิจฉัยโรคไต : เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์
  • การให้คำปรึกษา : โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองหลังการฟอกไต
  • การจัดการยา : แพทย์จะทำการสั่งจ่ายยาที่เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย

หากรู้ว่าโรคไตเกิดจากอะไร และรักษาอย่างไร ที่สินแพทย์ ศรีนครินทร์ มีเทคโนโลยีฟอกเลือดประสิทธิภาพสูง (On-line Hemodiafiltration) ในการขจัดของเสียทุกขนาดได้เป็นอย่างดี ผ่านการล้างไตด้วยระบบน้ำบริสุทธิ์ Double RO ปราศจากสารเคมีปนเปื้อน ทำให้ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดใช้ชีวิตได้เทียบเคียงคนปกติ ลดโอกาสการติดเชื้อ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ลดการปวดข้อ อาการปวดกระดูก ผิวไม่แห้ง ไม่คล้ำ ไม่เบื่ออาหาร ความดันตกขณะฟอกเลือด รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 

ฟอกไต รักษา

ศูนย์ไตเทียม สินแพทย์ ศรีนครินทร์ ใช้สิทธิ์อะไรได้บ้าง

ศูนย์ไตเทียม สินแพทย์ ศรีนครินทร์ ใช้สิทธิ์ได้ทั้งหมด 3 สิทธิ์หลัก ๆ ดังนี้

 

สิทธิ์ข้าราชการ

ผู้ป่วยที่มีสิทธิข้าราชการ สามารถนำบัตรข้าราชการมาใช้ในการเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ศูนย์ไตเทียม สินแพทย์ ศรีนครินทร์ ได้ โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับประเภทของสิทธิข้าราชการและเงื่อนไขของแต่ละหน่วยงาน

 

สิทธิ์ประกันสังคม

ผู้ป่วยที่มีสิทธิประกันสังคม สามารถนำบัตรประกันสังคมมาใช้ในการเบิกค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับประเภทของสิทธิประกันสังคมและเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคม

 

ชำระเงินด้วยตนเอง

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลประเภทอื่น ๆ สามารถชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยตนเองได้ โดยโรงพยาบาลจะมีการแจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้ทราบก่อนการรับบริการ

 

สรุป

อ่านมาถึงตรงนี้คุณคงรู้แล้วว่าโรคไตเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรักษาโรคไตแต่ละชนิด รวมถึงวิธีการเตรียมตัวก่อน-หลังการฟอกไต แม้ว่าจะการรักษาโรคนี้จะมีวิวัฒนาการไปไกล ไม่ได้อันตรายเท่าเมื่อก่อน 

แต่ไม่ว่าจะยังไง การรักษาสุขภาพไตให้แข็งแรง ก็ถือเป็นทางเลือดที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพของทุกคน ดังนั้นหมั่นดูแลตัวเองโดยการทานอาหารให้มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สุขภาพดีและมีชีวิตที่ยืนยาว อยู่เคียงข้างลูกหลานได้อีกนานแสนนาน 

SHARE