กระดูกสะโพกหัก หมายถึง กระดูกฟีเมอร์ (Femur) ที่ไล่จากหัวกระดูกฟีเมอร์ลงไปถึงส่วนต้นของกระดูกต้นขา
การหักของกระดูกส่วนนี้มักมีสาเหตุมาจากการได้รับการกระแทกที่รุนแรง เช่น การหกล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสะโพกหักมักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ความหนาแน่นของกระดูกก็ลดลง หรือมีความเปราะบางกว่าวัยอื่น ๆ ส่งผลให้เวลาหกล้มนั้นกระดูกสามารถหักได้ง่ายขึ้น ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหากระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ แพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าควรรักษาด้วยวิธีใด เพื่อให้กระดูกกลับมาใช้งานได้อย่างปกติ
ทำความรู้จักกับประเภทของกระดูกสะโพกหัก
กระดูกสะโพก เป็นกระดูกข้อต่อลูกบอลในเบ้าที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ โดยที่บริเวณรอบ ๆ นั้นจะมีเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อจำนวนมากรองรับ เพื่อช่วยให้กระดูกสะโพกมีความเสถียรมากขึ้น ซึ่งข้อสะโพกนั้นเป็นข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกราน และกระดูกต้นขา มีหน้าที่ช่วยให้ยืดเหยียดเวลานั่ง เดิน ยืน หรือนอนได้อย่างคล่องตัว แถมยังทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักตัวอีกด้วย ดังนั้น หากเกิดปัญหากระดูกสะโพกหัก จะทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อสะโพกหรือเดินลงน้ำหนักได้ โดยข้อสะโพกที่สามารถเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุได้ มีดังนี้
-
คอกระดูกต้นขาหัก (Femoral neck fracture)
คอกระดูกต้นขาหัก เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดบริเวณต้นขาประมาณ 1-2 นิ้ว นับจากตำแหน่งเบ้าของสะโพก ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ และ 80% ของผู้ที่เกิดคอกระดูกต้นขาหักเป็นผู้หญิง นอกจากนั้นยังสามารถเกิดได้จากอุบัติเหตุที่มีระดับความรุนแรงมากสูง เช่น ตกจากที่สูง หรืออุบัติเหตุทางจราจร โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอาการปวดสะโพก ไม่สามารถลุก หรือเดินได้อย่างปกติ รวมถึงเท้าข้างที่คอกระดูกต้นขาหักก็จะบิดออกด้วยเช่นกัน แต่ในกรณีที่กระดูกของผู้ป่วยนั้นหักไม่สมบูรณ์ก็จะสามารถขยับตัวได้ แต่เมื่อลงน้ำหนักข้างที่หักจะทำให้รู้สึกปวด
-
ข้อสะโพกเคลื่อน (Hip dislocation)
ข้อสะโพก เป็นส่วนที่มีความแข็งแรง และมีความมั่นคงมากที่สุด ถ้าหากไม่ได้รับการกระทบกระเทือนที่รุนแรงก็ไม่สามารถเคลื่อนได้ง่าย ๆ โดยอาการข้อสะโพกเคลื่อนนั้นเป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดจากข้อต่อเคลื่อนออกจากเบ้า ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางออร์โธปิดิกส์ เพราะอาจเกิดร่วมกับการแตกหักของกระดูก กระดูกต้นขาหัก และเส้นเลือดใหญ่ฉีกขาด ซึ่งเป็นภาวะที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ และอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงยังบริเวณนั้นได้ไม่เพียงพอจนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย
-
กระดูกสะโพกหักชนิด Intertrochanteric fracture
กระดูกสะโพกหักชนิด Intertrochanteric จะหักบริเวณต้นขาส่วนบนประมาณ 3-4 นิ้ว นับจากข้อต่อสะโพก หรือเป็นการหักระหว่างกระดูก Greater และ Lesser Trochanters ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีโรคกระดูกพรุนโดยตรง โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว สำหรับผู้ป่วยที่กระดูกหักชนิดไม่เคลื่อน อาจจะนั่ง และยืนได้ในระยะใกล้ แต่ผู้ป่วยที่กระดูกหักชนิดเคลื่อน จะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เพราะอาการปวด และอาจพบอาการบวม และรอยจ้ำเลือดร่วมด้วย
-
กระดูกสะโพกหักชนิด Subtrochanteric fracture
กระดูก Subtrochanteric คือ กระดูกต้นขาตั้งแต่ระดับ lesser trochanter ตํ่าลงมาไม่เกิน 5 เซนติเมตร และเป็นบริเวณที่ต้องรับแรง และรับความเค้นสูง นอกจากนั้นยังมีเลือดมาเลี้ยงบริเวณนี้น้อยกว่าส่วนอื่นๆ เมื่อเกิดอาการหักก็จะทำให้เกิดอาการปวด บวม และพบภาวะผิดรูป ถ้าหากพบการหักแบบ Subtrochanteric ในผู้สูงอายุอาจส่งผลให้มีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนได้ อย่างเช่น โรคมะเร็งกระดูก กระดูกบาดเจ็บเรื้อรัง หรือ กระดูกหักจากการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกสะโพกหักได้ง่าย
อาการบาดเจ็บจากกระดูกสะโพกหัก เป็นปัญหาสุขภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คน แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ โดยปัจจัยเสี่ยงที่สามารถส่งผลให้กระดูกสะโพกหักนั้นมีทั้งหมด 6 ปัจจัย ดังนี้
-
อายุ
อายุ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มีโอกาสในการเกิดสะโพกหักเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าความหนาแน่นของกระดูก และมวลกล้ามเนื้อจะเสื่อมสภาพ และลดลงเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติของช่วงอายุ อย่างเช่น เมื่อเข้าสู่วัย 40 มวลกล้ามเนื้อจะลดลง 8% ในทุก ๆ 10 ปี และเมื่อเข้าสู่วัย 70 มวลกล้ามเนื้อก็จะลดลงอีกเป็นเท่าตัว จึงทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาในการทรงตัวมากขึ้น และในผู้สูงอายุบางรายที่มีปัญหาสายตาก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการหกล้ม และอาจทำให้กระดูกสะโพกหักได้
-
เพศ
เพศหญิงนั้นมีโอกาสกระดูกสะโพกหักมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า และเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือนก็จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งทำให้ร่างกายสูญเสียความหนาแน่นของกระดูก เพราะว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นมีหน้าที่ในการป้องกันโรคกระดูกพรุน และเมื่อระดับฮอร์โมนลดลงก็จะทำให้ความสามารถในการสะสมแคลเซียมนั้นลดลงตามไปด้วย
-
ไลฟ์สไตล์
ไลฟ์สไตล์ และแนวทางในการใช้ชีวิตนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อกระดูกได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายอาจทำให้กระดูกไม่แข็งแรงร่วมกับกล้ามเนื้อเกิดอาการอ่อนแรง ซึ่งสามารถทำให้หกล้มได้ง่าย รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เพราะว่าปัจจัยทั้ง 2 อย่างนั้นสามารถส่งผลต่อกระบวนการในการสร้างกระดูก และทำให้สูญเสียมวลกระดูกได้
-
ยาบางชนิด
สำหรับผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ อย่างเช่น ยาคอร์ติโซน เป็นยาที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจทำให้กระดูกบาง และไม่แข็งแรง นอกจากนั้นการรับประทานยาประเภทที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว รวมถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ ยาต้านอาการทางจิต และยากล่อมประสาท เพราะว่ายาเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยอยู่ในอาการวิงเวียน ซึ่งสามารถส่งผลให้หกล้ม และทำให้มีโอกาสที่กระดูกสะโพกหักได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยารักษาภาวะกระดูกพรุนก็จำเป็นต้องได้รับการติดตามอย่างสม่ำเสมอเพราะอาจเป็นสาเหตุเกิดกระดูกสะโพกหักได้
-
ปัญหาด้านโภชนาการ
วิตามินดี เป็นสารที่ช่วยดูดซึมแคลเซียมได้เป็นอย่างดี ซึ่งแคลเซียมนั้นถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก ดังนั้น หากร่างกายได้รับปริมาณแคลเซียมที่ไม่เพียงพอ สามารถส่งผลให้กระดูกบาง และกระดูกพรุนได้ง่าย แถมยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกอีกด้วย ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารที่มีปริมาณวิตามินดี และแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
-
โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่ความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดลง จนส่งผลให้กระดูกเสื่อม เปราะบาง และแตกหักได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหักได้ง่ายขึ้น
แนวทางการรักษาเมื่อกระดูกสะโพกหัก
กระดูกสะโพกหัก เป็นอาการที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนที่เกิดตามหลังกระดูกสะโพกหัก โดยแนวทางการรักษานั้นจะต้องเข้ารับการประเมินต่าง ๆ จากแพทย์ รวมถึงอายุ และสภาพร่างกาย เพื่อวางแผนในการรักษา และในระหว่างนี้แพทย์ก็จะให้ยาบรรเทาอาการปวด แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะรักษาด้วยการผ่าตัด พร้อมทั้งทำการกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
-
ผ่าตัดยึดกระดูก (Internal fixation)
การผ่าตัดยึดกระดูก เป็นหัตถการรูปแบบหนึ่งโดยจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่ และหลังจากจัดกระดูกเข้าที่แล้วก็จะยึดกระดูกด้วยสกรูยึดกับแผ่นโลหะ หรือแท่งโลหะดามแกนกลางกระดูก เพื่อให้โลหะเป็นตัวเชื่อมยึด ทำให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น และช่วยยึดกระดูกให้อยู่กับที่ จนกระดูกเกิดการสมาน ซึ่งการรักษาแบบผ่าตัดยึดกระดูกนั้นสามารถช่วยให้กระดูกเดิมของผู้ป่วยกลับมาใช้งานได้ปกติหรือใกล้เคียงเดิม
-
ผ่าตัดใส่ข้อเทียมบางส่วน (Partial hip replacement)
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เป็นการผ่าตัดเพื่อนำหัวกระดูกสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพ หรือแตกหักออก และใส่ก้านสะโพกเทียมเข้าไปทดแทน โดยจะมีหัวสะโพกเทียมสวมลงก้านสะโพกเทียมอีกที การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดนี้จะใช้เบ้าสะโพกเดิมของผู้ป่วย และมักผ่าตัดในผู้สูงอายุ
-
ผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเทียมทั้งชุด (Total hip replacement)
การผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเทียมทั้งชุด เป็นการผ่าตัดเพื่อนำหัวกระดูกสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพ หรือแตกหักออก และใส่ก้านสะโพกเทียมเข้าไปทดแทน นอกจากนี้ จะมีการทำเบ้าเทียมร่วมด้วย เหมาะกับผู้ป่วยที่อายุไม่มาก การผ่าตัดข้อเทียมดังกล่าวจะใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน และกลับไปพักฟื้นหลังผ่าตัดที่บ้านประมาณ 3-4 สัปดาห์ สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมนั้นมีอายุการใช้งานนานประมาณ 15-20 ปี หากมีการดูแลและใช้งานข้อเทียมอย่างเหมาะสมตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
-
กายภาพบำบัด
หลังจากผู้ป่วยได้ทำการเปลี่ยนสะโพกเทียมช่วงแรก ๆ นั้นจะต้องปฏิบัติตัว และทำกิจวัตรประจำวันอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัย และการฟื้นฟูร่างกายที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการลงจากเตียงนอน การเดิน หรือการนั่ง โดยหลังจากการผ่าสะโพกหักนั้นผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักได้ทันทีในรายที่แข็งแรงหรือบางรายอาจจะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3-4 สัปดาห์ จึงจะกลับมาเดินได้อย่างปกติ โดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยัน และในช่วงที่ต้องรอให้ร่างกายฟื้นตัวนั้นอาจทำให้กล้ามเนื้อสะโพกเกิดอาการอ่อนแรง เพราะว่าไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน ดังนั้น การกายภาพบำบัดหลังจากการผ่าตัดกระดูกสะโพกหักนั้นจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ โดยในช่วงแรกของการกายภาพบำบัดนั้นจะเน้นการเคลื่อนไหว และการออกกำลังกายที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ซึ่งควรทำอย่างสม่ำเสมอ และเลือกออกกำลังกายแบบที่ไม่เป็นการเพิ่มแรงกระแทก โดยคนไข้สามารถขอคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักกายภาพบำบัดสำหรับวิธีการออกกำลังกายหรือทำกายบริหารอื่น ๆ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดเมื่อสะโพกหัก
เมื่อมีผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก โดยส่วนใหญ่แพทย์มักจะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อให้คนไข้กลับมาเดินได้ปกติ แต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษาตัว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพราะว่าเมื่อกระดูกหักแล้ว ก็อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยแพทย์ทันท่วงที เช่น การเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขา หรือที่ปอด หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ เช่น แผลกดทับ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อหลังผ่าตัด ปอดบวม หรือปอดอักเสบ นอกจากนี้ผู้สูงอายุบางรายอาจใช้เวลาในการฟื้นฟูนานกว่าปกติ และมีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อลีบและเดินไม่คล่องได้ หรืออาจเกิดการล้มซ้ำได้เช่นกัน
ดูแลตัวเองอย่างไรให้กระดูกแข็งแรง
เมื่ออายุมากขึ้นก็จะส่งผลให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมสภาพตามช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นมวลกล้ามเนื้อ กระดูก รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่อาจทำให้เกิดการหกล้มจนกระดูกสะโพกหักได้ และถ้าหากมีการดูแลสุขภาพของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อยก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่ร่างกายจะเกิดปัญหากระดูกเปราะบาง หรือเป็นโรคกระดูกพรุนได้ โดยวิธีดูแลตัวเองให้กระดูกแข็งแรงสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- ดูแลตัวเองด้วยการให้ร่างกายได้รับแคลเซียม และวิตามินดีอย่างเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ โดยควรบริโภคแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และวิตามินดี 600 I.U.ต่อวัน
- ออกกำลังกายที่ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูก และกล้ามเนื้อ เช่น เดินออกกำลังกาย โยคะ และไทเก็ก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถลดความหนาแน่นของกระดูกได้
ข้อสะโพก ถือว่าเป็นข้อต่อที่มีความแข็งแรง และมีความมั่นคงเป็นอย่างมาก และยากที่จะหักได้ง่าย ๆ ซึ่งปัญหากระดูกสะโพกหักนั้นเกิดได้จากปัจจัยหลัก 2 อย่าง คือ อุบัติเหตุ และกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุที่เกิดจากการหกล้ม เพราะระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมลง โดยแนวทางในการรักษาสะโพกหัก ส่วนใหญ่นั้นแพทย์มักจะทำการผ่าตัดร่วมกับการกายภาพบำบัด เพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่หลังจากการผ่าตัดสะโพกนั้นจะต้องใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนานกว่าจะกลับมาเดินได้ปกติ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนั้น การดูแลสุขภาพกระดูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหักในอนาคตได้