
โรคปลอกประสาทอักเสบ ภัยเงียบที่คุกคามระบบประสาท
หนึ่งในโรคที่มีความรุนแรงต่อระบบประสาท คือ โรคปลอกประสาทอักเสบ ชื่อที่ใครหลายคนอาจจะไม่รู้จักหรือไม่คุ้นหู แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคนี้กลับส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการทำงานของสมอง และไขสันหลัง ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีความบกพร่อง ทำให้ปลอกประสาทได้รับความเสียหาย นำไปสู่อาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การมองเห็นพร่ามัว การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ปัญหาด้านอารมณ์ เป็นต้น โดยอันตรายของโรคนี้สามารถทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือดำเนินการรักษาที่ทันท่วงที อาจนำไปสู่ความพิการหรือการเสียชีวิตได้ในที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจ พร้อมตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้มากยิ่งขึ้น โรงพยาบาลสินแพทย์ จะพาไปเรียนรู้ถึงสาเหตุ อาการ การวินิจฉัย พร้อมทั้งแนะแนวทางในการรักษา ให้ทุกคนสามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคปลอกประสาทอักเสบ คืออะไร? สาเหตุ อาการ และการวินิจฉัย
โรคปลอกประสาทอักเสบ เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากปลอกไมอีลิน (myelin) หรือปลอกที่หุ้มเส้นประสาทสมอง เส้นประสาทตา และไขสันหลัง เกิดการอักเสบ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดความผิดปกติ ซึ่งมีสาเหตุ อาการ รวมถึงการวินิจฉัยดังนี้
สาเหตุ
สาเหตุของโรคปลอกประสาทอักเสบ ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่อาจมีที่มาได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้
พันธุกรรม
โรคปลอกประสาทอักเสบ ไม่ใช่โรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดโดยตรง แต่หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรค อาจส่งผลทำให้บุคคลในครอบครัวมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้เมื่อเทียบกับคนทั่วไป เนื่องจากการได้รับพันธุกรรมบางอย่างที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และทำลายส่วนที่หุ้มเส้นประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการของโรคขึ้น
ระบบภูมิคุ้มกัน
อีกหนึ่งในสาเหตุหลักที่นำไปสู่การเกิดโรคได้ คือ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำหน้าที่ในการปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมมีความผิดปกติ เกิดการทำลายหรือโจมตีเนื้อเยื่อส่วนปลอกไมอีลิน (myelin) ชั้นหุ้มเส้นประสาท ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการนำส่งสัญญาณของประสาทไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อปลอกหุ้มเส้นประสาทเกิดการอักเสบ จึงส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น ภาวะอ่อนแรง การมองเห็นพร่ามัว และอารมณ์แปรปรวน
เชื้อไวรัส
การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อ Epstein-Barr Virus (EBV) อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการอักเสบของปลอกไมอีลิน และนำไปสู่การพัฒนากลายเป็นโรคปลอกประสาทอักเสบได้ในที่สุด
ปัจจัยแวดล้อม
ปัจจัยแวดล้อม และพฤติกรรม สามารถกระตุ้นในการเพิ่มเสี่ยงของการเกิดโรคได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ การสัมผัสกับสารเคมีหรือมลพิษทางอาการ รวมถึงการขาดวิตามินดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดการอักเสบของร่างกาย
อาการ
อาการของโรคปลอกประสาทอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างหลากหลาย ซึ่งแตกต่างกันในแต่บุคคล โดยขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง รวมถึงตำแหน่งที่เกิดการอักเสบ โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น ปัญหาการทรงตัวที่ผิดปกติ เห็นเป็นภาพเบลอ ๆ และบางครั้งอาจเกิดความซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน
การวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยของแพทย์เพื่อทำการแยกโรค สามารถทำได้ด้วยวิธีดังนี้
- การตรวจด้วยเคลื่อนแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ MRI เพื่อให้มองเห็นให้มองเห็นรายละเอียดของความเสียหายหรือการอักเสบบริเวณเส้นประสาทสมอง เส้นประสาทตา และไขสันหลัง
- การตรวจความสามารถในการทำงานของระบบประสาท เช่น การเคลื่อนไหว การมองเห็น การรับรู้ด้านอารมณ์ และความรู้สึก เป็นต้น
- การตรวจน้ำไขสันหลัง เพื่อวัดปริมาณเซลล์เม็ดเลือด และโปรตีนบางชนิด ซึ่งหากมีความเสี่ยงเป็นโรคปลอกประสาทอักเสบ จะมีปริมาณที่สูงมากผิดปกติ
- การตรวจเลือดเพื่อใช้ในการวินิจฉัย และแยกโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกับโรคปลอกประสาทอักเสบ
ชนิดของโรคปลอกประสาทอักเสบ
ชนิดของโรคปลอกประสาทอักเสบ สามารถจำแนกได้ตามลักษณะการดำเนินโรค และลักษณะของการกำเริบของอาการ ดังนี้
โรคปลอกประสาทอักเสบเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis: MS)
โรคปลอกประสาทอักเสบเสื่อมแข็ง เกิดขึ้นจากการอักเสบบริเวณปลอกประสาทในสมอง และไขสันหลัง มักเกิดอาการที่หลากหลาย เช่น ปัญหาด้านการมองเห็น การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ รวมถึงปัญหาด้านการควบคุมการขับถ่าย
โรคปลอกประสาทตาอักเสบ (Optic Neuritis)
โรคปลอกประสาทตาอักเสบ เกิดขึ้นจากการอักเสบบริเวณเส้นประสาทตา ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณจากดวงตาไปยังสมอง เมื่อเส้นประสาทได้รับความเสียหาย จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดตา ตามัว มองเห็นไม่ชัดได้
โรคไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis)
โรคไขสันหลังอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบบริเวณไขสันหลัง ซึ่งทำให้เกิดอาการอ่อนแรง รู้สึกชาเหมือนมีอะไรกดทับบริเวณขากับหลัง ที่เป็นผลมาจากการอักเสบในไขสันหลัง และเกิดขัดขวางการส่งสัญญาณจากสมอง
อาการของโรคปลอกประสาทอักเสบ
อาการของโรคปลอกประสาทอักเสบ สามารถสังเกตได้จากสัญญาณดังต่อไปนี้
- ความบกพร่องด้านเคลื่อนไหว : ผู้ป่วยจะอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือสูญเสียความสามารถในการทรงตัว ไม่สามารถควบคุมให้เดินได้อย่างมั่นคง รวมถึงความรู้สึกขาที่แขนขาเหมือนมีสิ่งกดทับ
- การมองเห็นที่ผิดปกติ : เนื่องจากปลอกประสาทตาถูกทำลาย ผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่ามัว ไม่สามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนหรือเห็นภาพบิดเบี้ยวผิดธรรมชาติ บางครั้งอาจสูญเสียความสามารถในการมองเห็น
- ความสามารถในการสื่อสาร : ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการคิด และการจดจำ รวมถึงความสามารถในการควบคุมการพูดลงน้อยลง ส่งผลให้พูดไม่ชัด และมีอาการกลืนลำบาก เป็นต้น
- สภาพจิตใจ และอารมณ์ : ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และอาจมีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ท้อแท้ที่เกิดจากผลกระทบของโรค
การรักษาโรคปลอกประสาทอักเสบ บรรเทาอาการ และป้องกันการกำเริบ
การรักษาโรคปลอกประสาทอักเสบ บรรเทาอาการ และป้องกันการกำเริบ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
การรักษาโรค
- การรักษาระยะกำเริบเฉียบพลัน : เช่น การฉีดยาสเตียรอยด์ทางหลอดเลือด เพื่อลดการอักเสบ และบรรเทาอาการ โดยสามารถให้ยาได้ทั้งรูปแบบฉีด และรับประทาน
- การรักษาในระยะยาว : เป็นการให้ยารักษาเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งมีทั้งชนิดฉีดใต้ชั้นผิวหนัง ยาฉีดใต้หลอดเลือด และยารับประทาน
การป้องกัน และบรรเทาอาการ
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ : ทั้งการรับประทานยาอย่างด้วยความสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมโรค และป้องกันการกำเริบของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ : ควรเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ เพื่อเสริมสร้างให้ระบบภูมิคุ้มกันมีความแข็งแรง
- หลีกพฤติกรรมที่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้น : เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การพักผ่อนน้อย เพราะอาจส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ และเพิ่มความเสี่ยงในการกำเริบของโรคปลอกประสาทอักเสบได้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคปลอกประสาทอักเสบ (FAQ)
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคปลอกประสาทอักเสบ มีดังนี้
โรคปลอกประสาทอักเสบเป็นโรคทางพันธุกรรมหรือไม่?
โรคปลอกประสาทอักเสบ ไม่ใช่โรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดโดยตรง แต่จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคสูง หากคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ อีกทั้งสาเหตุของโรคสามารถเกิดได้จากปัจจัยหลักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบภูมิคุ้มกัน ปัจจัยแวดล้อม เชื้อไวรัส รวมถึงเพศ และอายุ เป็นต้น
โรคปลอกประสาทอักเสบส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่?
โรคปลอกประสาทอักเสบอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ โดยผู้ป่วยอาจจะมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรมากกว่าผู้หญิงทั่วไปประมาณ 40% โดยเฉพาะหากเกิดการตั้งครรภ์ในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรกของการเป็นโรค
โรคปลอกประสาทอักเสบติดต่อหรือไม่?
โรคปลอกประสาทอักเสบ ไม่สามารถติดต่อกันได้ เนื่องจากสาเหตุหลักของเกิดโรค มักมาจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีการทำงานที่ผิดปกติ และเข้าไปทำงายเนื้อเยื่อส่วนปลอกประสาทบริเวณเส้นประสาทสมอง เส้นประสาทตา และไขสันหลัง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้อวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น ดวงตา แขนขา หลังมีความผิดปกติ