หัวใจเป็นอวัยวะที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเปรียบเสมือนเป็นศูนย์บัญชาการกลางของร่างกาย ในวันนี้จะมาแนะนำวิธีการวินิจฉัยโรคหัวใจด้วยการสวนหัวใจขยายหลอดเลือด
สวนหัวใจขยายหลอดเลือด แนวทางวินิจฉัย รักษาโรคหัวใจอย่างแม่นยำ
ถ้าเปรียบสมองเป็นเหมือนศูนย์บัญชาการที่สั่งการและบังคับการเคลื่อนไหว หัวใจก็คงจะเป็นเหมือนฝ่ายเสบียงที่มีหน้าที่หล่อเลี้ยงเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย พูดให้เป็นภาพง่ายขึ้น คือ กองทัพต้องเดินด้วยท้องยังไง สมองก็ยังคงต้องพึ่งพาหัวใจอย่างงั้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรละเลยการดูแลหัวใจของตัวเราเอง ยิ่งในปัจจุบันการวินิจฉัยโรคมีความแม่นยำมากขึ้น ทำให้รู้เท่าทัน ยับยั้งโรคภัยต่าง ๆ ได้ทันเวลา ในบทความนี้จะมาพูดถึงการสวนหัวใจขยายหลอดเลือด ซึ่งเป็นทั้งการตรวจและการรักษาที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจโดยตรง โดยจะพาไปดูว่าวิธีการนี้สามารถรักษาโรคใดได้บ้าง
หลอดเลือดหัวใจ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับร่างกาย
หลอดเลือดหัวใจ คือ หลอดเลือดแดง ที่ทำหน้าที่ขนส่งเลือดที่เติมออกซิเจนแล้วไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เนื่องจากหัวใจจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาออกซิเจนเหมือนกับอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย หากหลอดเลือดหัวใจมีความผิดปกติ มีการตีบและอุดตัน จะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนที่ส่งออกได้ก็จะลดลงไปด้วย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับผลกระทบ รวมไปถึงประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็เช่นเดียวกัน และการทำงานที่ไม่เสถียรนี้ จะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้ในที่สุด
กลุ่มเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับหัวใจ มีใครบ้าง
กลุ่มเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ มีดังนี้
- มีภาวะเครียด มีปัญหาด้านจิตใจ
- มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ที่กำหนด
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน และโรคไขมันในเลือดสูง
- รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง กินหวาน กินเค็ม สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
- ถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน
การสวนหัวใจขยายหลอดเลือด คืออะไร
การสวนหัวใจขยายหลอดเลือด คือ การสอดสายที่มีขนาดประมาณ 2 มิล ผ่านไปยังหลอดเลือดแดง โดยทำการฉีดสารทึบรังสีเพื่อบันทึกภาพและตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือด ว่ามีอาการอุดตัน ตีบหรือไม่ ถ้ามีจะมีมากน้อยขนาดไหน สามารถตรวจการบีบตัว ความดันของหัวใจ และการรั่วของลิ้นหัวใจ
หากพบความผิดปกติ เช่น หัวใจตีบแบบรุนแรงที่มากกว่า 70% แพทย์จะมีการพิจารณารักษาแบบขยายหลอดเลือดหัวใจโดยอาศัยบอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยันภายในหลอดเลือดตำแหน่งที่ตีบและอุดตัน เพื่อขยายหลอดเลือดและทำให้การไหลเวียนของเลือดกลับมาเป็นปกติ
การสวนหัวใจขยายหลอดเลือด ทำได้กี่จุด
การสวนหัวใจขยายหลอดเลือด ทำได้ 2 จุดคือบริเวณขาหนีบ และข้อมือ โดยแต่ละจุดมีความแตกต่างกัน
บริเวณขาหนีบ
บริเวณขาหนีบ จะใช้เวลาในการตรวจอยู่ที่ 30-60 นาที ไม่ต้องใช้ยาสลบ ไม่ต้องเย็บแผลหลังจากทำการสวนหัวใจ ผู้ป่วยจะต้องนอนราบเป็นเวลา 6-10 ชั่วโมง จึงจะสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อีกครั้ง
บริเวณข้อมือ
หากสวนหัวใจขยายหลอดเลือดที่บริเวณข้อมือ เมื่อผู้ป่วยทำหัตถการเรียบร้อยแล้วจะสามารถเคลื่อนไหวได้ทันที และใช้เวลาพักฟื้นเพียง 4-8 ชั่วโมง
การสวนหัวใจขยายหลอดเลือด มีขั้นตอนอย่างไร
การสวนหัวใจขยายหลอดเลือด มีขั้นตอนดังนี้
- ตรวจสุขภาพและเตรียมร่างกายให้พร้อม อาจจะมีการงดอาหารก่อนเข้าทำหัตถการ
- แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณที่สอดสายสวน เข้าไปในหลอดเลือดแดง เช่น ขาหนีบ หรือข้อมือ
- แพทย์จะสอดสายสวนขนาดเล็กเข้าไปในหลอดเลือดแดง จนถึงตำแหน่งที่หลอดเลือดหัวใจตีบ
- ฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือด เพื่อให้เห็นภาพหลอดเลือดหัวใจชัดเจนขึ้นผ่านเครื่องเอกซเรย์
- แพทย์จะนำบอลลูนขนาดเล็กที่ติดอยู่ปลายสายสวน เข้าไปที่ตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบ แล้วขยายบอลลูนเพื่อดันผนังหลอดเลือดให้กว้างขึ้น
- หลังจากขยายหลอดเลือดแล้ว แพทย์อาจใส่ขดลวดที่ทำจากโลหะไว้ที่บริเวณที่ขยาย เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบแคบลงอีก
- เมื่อขั้นตอนเสร็จสิ้น แพทย์จะดึงสายสวนออก และกดที่บริเวณที่สอดสายสวนเพื่อห้ามเลือด
- ในกรณีทำที่ข้อมือผู้ป่วยจะต้องพักฟื้น 4-8 ชั่วโมง ส่วนในกรณีที่ทำบริเวณขาหนีบจะต้องพักฟื้น 6- 10 ชั่วโมง เพื่อสังเกตอาการ
ผลข้างเคียงจากการสวนหัวใจขยายหลอดเลือด มีอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงจากการสวนหัวใจขยายหลอดเลือดที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่
- มีอาการแพ้สารทึบรังสี
- ปวด บวม ช้ำ บริเวณจุดที่สอดสายสวน
- พบเลือดไหลซึมบริเวณจุดสอดสายสวน
- ติดเชื้อที่แผลที่สอดสายสวน
- มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจและสมอง
ข้อจำกัด หรือข้อควรระวังในการสวนหัวใจขยายหลอดเลือด
ข้อควรระวังในการสวนหัวใจขยายหลอดเลือดแบ่งได้เป็น 3 ปัจจัยหลัก ๆ ประกอบไปด้วย
- ความรุนแรงของโรค : หากหลอดเลือดหัวใจตีบหลายตำแหน่ง หรือมีการตีบแคบมาก อาจไม่สามารถทำการขยายหลอดเลือดได้ทั้งหมด หรืออาจต้องทำการรักษาเพิ่มเติม
- สภาพร่างกายของผู้ป่วย : ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคไตวาย โรคปอดเรื้อรัง หรือมีภาวะเลือดออกง่าย อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- ตำแหน่งของหลอดเลือด : หากหลอดเลือดที่ตีบอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก อาจทำให้การทำหัตถการมีความยากลำบากมากขึ้น
โรคหรือภาวะใดบ้างที่สามารถรักษาได้ด้วยเทคโนโลยีสวนหัวใจ
โรคหรือภาวะที่สามารถรักษาได้ด้วยเทคโนโลยีสวนหัวใจ มีดังนี้
โรคลิ้นหัวใจ
โรคลิ้นหัวใจเกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ทำให้การไหลเวียนเลือดผิดปกติ การรักษาโรคลิ้นหัวใจอาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดหรือใส่ลิ้นหัวใจเทียม
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นผิดปกติ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือยาบางชนิด ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุของโรค
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นภาวะที่หลอดเลือดหัวใจค่อย ๆ แคบลง เนื่องจากมีไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ ส่วนโรคหลอดเลือดหัวใจตัน เป็นภาวะที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันกะทันหัน มักเกิดจากลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด
ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด อาจจะมาจาพันธุกรรมหรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เกิดจากการที่ลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด สมอง การรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของลิ่มเลือด
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดจากการที่เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งการสวนหัวใจขยายหลอดเลือดสามารถช่วยเปิดหลอดเลือดที่ตีบตันได้ ทำให้เลือดไหลเวียนกลับมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อีกครั้ง
สัญญาณเตือนใดบ้าง ที่ควรพบแพทย์ศูนย์หัวใจโดยด่วน
หากคุณมีอาการใดอาการหนึ่งต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ที่ศูนย์หัวใจโดยด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเกี่ยวกับหัวใจที่ร้ายแรงได้
- เจ็บแน่นหน้าอก
- นอนราบไม่ได้ เหนื่อยง่าย
- ขาบวม เท้าบวม
- หายใจลำบาก มีอาการหอบเหนื่อย
- ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นเร็ว หรือช้าผิดปกติ
- หน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน
- เหงื่อออกมากผิดปกติ แม้กระทั่งตอนออกแรงน้อย หรือพักผ่อน
แพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ โรงพยาบาลสินแพทย์
แพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ โรงพยาบาลสินแพทย์ เช็กความแข็งแรงของหัวใจ สามารถจองคิวโปรแกรมตรวจสุขภาพหัวใจ โรงพยาบาลสินแพทย์ได้ โดยรายละเอียดแพ็กเกจมีดังนี้
- ตรวจร่างกายโดยอายุรแพทย์
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- ตรวจการทำงานของไต
- ตรวจระดับไขมันในเลือด
- ตรวจการทำงานของตับ
- ตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ
- เอกซเรย์ทรวงอกเพื่อดูปอดและหัวใจ
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- ตรวจหาภาวะหลอดเลือดแข็งตัว
- ตรวจวัดปริมาณแคลเซียม หรือคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ
ทั้งหมดอยู่ในราคาเพียง 8,700 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เรื่องหัวใจ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ป้องกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพและอายุที่ยืนยาว