ลูกขาโก่ง ภัยอันตรายแฝงเงียบที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

29 เม.ย. 2565 | เขียนโดย แผนกศูนย์กระดูกและข้อครบวงจร โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

สำหรับครอบครัวไหนที่พึ่งจะมีลูกน้อยได้ไม่นาน อาจสังเกตเห็นว่าทารกที่เพิ่งเกิดหรือลูกขาโก่ง ซึ่งคุณพ่อและคุณแม่เข้าใจว่าคงเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อเติบโตขึ้นอาการดังกล่าวก็จะหายไปเอง แต่รู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว โรคขาโก่งนั้นอันตรายกว่าที่คิด เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานและไม่ทำการรักษา อาจส่งผลเสียต่อร่างกายและบุคลิกภาพของเจ้าตัวเล็กได้ 

 

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว คุณพ่อและคุณแม่ลองสังเกตดูอาการของเจ้าตัวเล็กโดยคร่าวก่อน เริ่มต้นจากการสำรวจว่าบริเวณช่วงเข่าทั้ง 2 ข้าง ของลูกน้อยแยกออกจากกันในขณะยืนหรือไม่ ซึ่งเมื่อเช็กเรียบร้อยแล้ว มาดูกันต่อถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคชนิดดังกล่าว ดังนี้

 

 

ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการทำให้เด็กหรือทารกขาโก่ง

ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการทำให้เด็กหรือทารกขาโก่ง

หลังจากที่ได้รับรู้และเข้าใจในอาการขาโก่งเบื้องต้นไปแล้ว คงทำให้คุณพ่อและคุณแม่หลายคนเกิดข้อสงสัยตามมาว่าเพราะอะไรถึงทำให้ลูกขาโก่ง โดยปัจจัยที่ส่งผล มีดังนี้

  • น้ำหนักเกิน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ทารกขาโก่งได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อ้วนท้วม และมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ส่งผลให้กระดูกเกิดการกดทับกันบริเวณด้านในเข่าและทำให้ขาโก่ง
  • กรรมพันธุ์ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก แต่ก็มีโอกาสเป็นได้ โดยปัจจัยนี้ จะมีผลให้ลักษณะกระดูกของลูกน้อยผิดรูป ซึ่งทำให้ลูกน้อยของคุณมีอาการขาโก่งไปเองตามธรรมชาติ

 

โรคขาโก่ง (Bowed Leg)

โรคขาโก่ง (Bowed Leg)

โรคขาโก่ง (Bowed Leg) เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของทารกหรือเด็กเล็ก เนื่องจากปัจจัยด้านน้ำหนักและกรรมพันธุ์ ทั้งนี้ โรคดังกล่าวยังสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ และมีรอยโรค ดังนี้ 

อาการของโรคขาโก่ง

สำหรับลูกน้อยคนไหนที่เป็นโรคขาโก่งนั้น ส่วนมากจะมีอาการหัวเข่าทั้ง 2 ข้าง แยกห่างออกจากกัน แม้จะอยู่ในท่าทางการยืนที่เอาข้อเท้าเข้ามาชิดติดกันก็ตาม

สาเหตุ

โรคขาโก่งนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยสาเหตุหลักนอกเหนือจากน้ำหนักแล้ว คือ

  • เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ด้วยการขดตัวนอนของทารกในท้องคุณแม่จนกระทั่งออกมาลืมตาดูโลก จึงทำให้ขามีลักษณะโก่งหรือโค้งได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป
  • ท่าทางการเดิน จากการศึกษาด้านการแพทย์พบว่า การเดินเร็วก็มีส่วนทำให้เกิดอาการขาโก่งได้เช่นกัน เนื่องจากเด็กเล็กจะยังเดินได้ไม่คล่องแคล่วและมั่นคงพอ
  • กระดูกแตกหัก หรือผิดรูป ในกรณีที่ลูกน้อยเคยหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ขึ้น อาจส่งผลให้รูปกระดูกเปลี่ยนไปจากเดิม และทำให้เกิดอาการขาโก่งได้

 

โรคอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคขาโก่ง

โรคอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคขาโก่ง

นอกจากโรคขาโก่งจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งด้านร่างกาย ตลอดจนพฤติกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังมีโรคอื่นที่ส่งผลให้ผู้ใหญ่หรือเด็กขาโก่งได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น โรคกระดูกอ่อน โรคเบล้าท์ โรคอ้วนในเด็ก หรือโรคพาเจท  ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถสร้างความเสี่ยงให้ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและเหมาะสม

 

  • โรคกระดูกอ่อน

โรคกระดูกอ่อนเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายในการสร้างกระดูก เนื่องจากขาดวิตามินและแร่ธาตุสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง แตกหักง่าย และไม่สามารถรองรับน้ำหนักร่างกายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อรูปกระดูกที่เปลี่ยนรูปไปและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคขาโก่ง หรือขางอได้ โดยอาการของโรคกระดูกอ่อน คือ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้า ลุกนั่ง หรือเดินได้ไม่คล่องแคล่วเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ 

 

  • โรคเบล้าท์

โรคเบล้าท์ คือ ภาวะที่เกิดจากเด็กมีน้ำหนักตัวมากจนเกินไป ส่งผลให้กระดูกไม่สามารถรองรับน้ำหนักของร่างกายได้ โดยเมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะทำให้เด็กขาโก่ง แต่จะแตกต่างจากโรคขาโก่งตรงที่ส่วนใหญ่โรคเบล้าท์จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาโก่งแค่ข้างเดียวเท่านั้น เนื่องจากความผิดปกติของกระดูกส่วนหน้าแข้ง ซึ่งหากลูกน้อยคนไหนเป็นอยู่ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

 

  • โรคอ้วนในเด็ก

โรคอ้วนในเด็กถือเป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งนอกจากจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่ายแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย โดยโรคชนิดนี้มักเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักมาจากสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน และทำให้เด็กขาโก่ง และเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันพอกตับ และอื่น ๆ เป็นต้น

 

  • โรคพาเจท

โรคพาเจทหรือโรคกระดูกเรื้อรัง เป็นภาวะที่เกิดจากกระบวนการสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาแทนที่กระดูกเก่า แต่กระดูกชิ้นดังกล่าวเปราะบาง ไม่แข็งแรง และแตกหักง่าย ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในบริเวณกระดูกเชิงกราน กระดูกสันหลัง และกระดูกขา โดยโรคพาเจทมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35-40 ปีขึ้นไป และมักจะมาจากปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ ซึ่งอาการของโรคนี้ คือ เจ็บหรือปวดบริเวณที่เป็นโรคพาเจท หากปล่อยไว้นาน อาจเสี่ยงให้เกิดโรคเข่าโก่ง โรคข้อเข่าเสื่อมและโรคอื่น ๆ ตามมาได้

 

 

โรคขาโก่งสามารถรักษาได้หรือไม่

โรคขาโก่งสามารถรักษาได้หรือไม่

สำหรับคุณพ่อหรือคุณแม่ที่สงสัยว่าขาโก่งรักษาได้ไหม หรือมีวิธีการป้องกันอย่างไรได้บ้างนั้น เนื่องจากโรคขาโก่งจะทำให้แผ่นกระดูกด้านในถูกกดทับ ผลที่ตามมานอกจากขาโก่ง คือ การเสียบุคลิกภาพได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ช่วยให้เกิดวิธีการรักษาที่หลากหลายและให้ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูได้เป็นอย่างดี ดังนี้

 

  • การบริหารกล้ามเนื้อส่วนขา

สำหรับใครที่เป็นโรคขาโก่ง หรือ Bowed Leg แล้วมีอาการไม่มากนัก การบริหารกล้ามเนื้อส่วนขานับเป็นหนึ่งในทางเลือกในการรักษาที่ง่าย และสามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และจัดกระดูกให้กลับมาเข้ารูปดังเดิม โดยเริ่มจากการแยกปลายเท้าออกจากกันประมาณ 45 องศา ในขณะที่ส้นเท้ายังยืนชิดติดกันอยู่ จากนั้นพยายามดันตัวให้ตรงที่สุดเป็นเวลา 5 นาที ซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 3 ครั้ง เพื่อให้การบริหารกล้ามเนื้อนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  • ปรับท่าทางการเดิน

การปรับท่าทางการเดินมีส่วนช่วยในการรักษาลูกขาโก่งได้เช่นกัน โดยให้ลูกน้อยนั้นเดินให้ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้า รวมถึง ในขณะที่ยืนนั้น ให้พยายามหลีกเลี่ยงการยืนขาโก่ง ซึ่งวิธีดังกล่าว อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาในการทำทีละขั้นตอน เพื่อให้กระดูกสามารถปรับรูปใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายมากที่สุด

  

  • การผ่าตัด

ในกรณีที่อาการขาโก่งในเด็กค่อนข้างจะเห็นได้อย่างชัดเจน การผ่าตัดถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาโรคขาโก่งได้ เพื่อให้กระดูกบริเวณใต้เข่ากลับมาตรง ดังนั้น จึงนิยมใช้วิธีการผ่าตัดโดยการตัดแต่งกระดูกให้เข้ารูปแล้วจึงปล่อยให้กระดูกค่อย ๆ กลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม ซึ่งการผ่าตัดนั้น ทางแพทย์จะให้ผู้ป่วยได้พักฟื้นและใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวภายในครึ่งเดือนแรก ก่อนที่จะเริ่มทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาสมบูรณ์ที่สุด

 

 

เคล็ดลับการดูแลร่างกาย ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคขาโก่ง

เคล็ดลับการดูแลร่างกาย ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคขาโก่ง

เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยขาโก่ง การดูแลรักษาสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยการเสริมสร้างสุขภาพจากโภชนาการที่ดี การออกกำลังกาย ตลอดจนการบำรุงด้วยแคลเซียมและวิตามิน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

 

  • เสริมสุขภาพด้วยโภชนาการ

การเสริมสุขภาพด้วยโภชนาการที่ดีอย่างการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอกจากจะทำให้สุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังช่วยในเรื่องต่าง ๆ เช่น การให้พลังงาน หรือเสริมสร้างระบบร่างกายได้เป็นอย่างดี

 

  • ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

สำหรับเคล็ดลับการดูแลร่างกายนั้น การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งควรให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะเมื่อร่างกายได้มีการเคลื่อนไหว จะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ และส่วนอื่น ๆ ได้มีการขยับเขยื้อน ทำให้สุขภาพแข็งแรงและช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคขาโก่งได้ด้วย

 

  • บำรุงร่างกายด้วยแคลเซียมและวิตามิน

สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กขาโก่ง คือ การมีกระดูกที่เปราะบางและแตกหักง่าย จึงทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้  ดังนั้น การบำรุงร่างกายด้วยแคลเซียมและวิตามินจะช่วยให้กระดูกกลับมาแข็งแรงและป้องกันไม่ให้ลูกขาโก่งหรือมีภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ ตามมา

 

โรคขาโก่ง หรือ Bowed leg คือ ภาวะหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อยในเด็กเล็กหรือเด็กแรกเกิด

 

โดยเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การมีน้ำหนักตัวเกิน พฤติกรรมการเดิน ตลอดจนโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เด็กหรือผู้ใหญ่มีอาการขาโก่ง จนทำให้หลาย ๆ คนอาจเกิดความกังวลว่า ขาโก่งรักษาได้ไหม ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหรือทารกขาโก่ง จึงควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ บำรุงด้วยวิตามินและแคลเซียม รวมไปถึง การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ซึ่งจะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสนุกสนานสมวัยในทุกด้าน

SHARE