ฝีเรื้อรังรอบทวารหนัก…ระวังอาจเป็นฝีคัณฑสูตร !!! (Anal Fistula)

21 ก.พ. 2568 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ฝีคัณฑสูตร (Fistula-in-ano หรือ Anal Fistula) เป็นการอักเสบติดเชื้อเรื้อรังของต่อมที่มีหน้าที่ผลิตมูกบริเวณทวารหนักจนเกิดเป็นฝีหนองและมีทางเชื่อมต่อระหว่างรูทวารหนักกับผิวหนังภายนอกทวารหนัก



ฝีคัณฑสูตรเกิดจากอะไร ?

โรคหรือภาวะที่อาจเป็นสาเหตุของฝีคัณฑสูตร เช่น

  • ฝีทวารหนัก ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
  • การบาดเจ็บหรือการผ่าตัดรอบทวารหนัก การฉายรังสีบริเวณรอบทวารหนัก
  • การติดเชื้อบางชนิด เช่น วัณโรค ซิฟิลิส การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease)
  • มะเร็งทวารหนักหรือโรคมะเร็งผิวหนังรอบปากทวารหนัก

 

อาการของฝีคัณฑสูตรเป็นอย่างไร ?

  • ปวดบวมบริเวณรอบทวารหนักหรือในรูทวารหนัก ปวดมากตอนเบ่งถ่าย
  • มีเลือดหรือหนองไหลออกมาจากผิวหนังบริเวณรอบทวารหนัก หรือขณะถ่ายอุจจาระมีหนองปนออกมา
  • มีอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณรอบทวารหนัก
  • อาจมีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย

 

อาการของฝีคัณฑสูตรต่างจากริดสีดวงทวารอย่างไร ?

ริดสีดวงทวารอาจมีอาการเจ็บบริเวณทวารหนักเวลาขับถ่าย ถ่ายเป็นเลือดสดไม่มีหนอง อาจมีก้อนริดสีดวงยื่นออกมา สามารถหายได้แม้ไม่ได้รับการผ่าตัด ส่วนฝีคัณฑสูตรจะมีหนองปนเลือดไหลออกมา อาจมีไข้ มีอาการปวดรอบทวารหนักตลอดเวลา ส่วนใหญ่ไม่สามารถหายได้ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดรักษา

 

การวินิจฉัยฝีคัณฑสูตรทำอย่างไร ?

แพทย์จะถามประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจทวารหนัก ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยวินิจฉัย เช่น

  • การส่องกล้องเพื่อตรวจดูภายในทวารหนักและลำไส้ตรง
  • อัลตราซาวด์ทวารหนักโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Endoanal ultrasonography)
  • การตรวจด้วยเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

 

การรักษาฝีคัณฑสูตรทำอย่างไร ?

การผ่าตัดเป็นวิธีหลักในการรักษา โดยแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดโดยวิธีต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความซับซ้อนของโรค เช่น

  • Fistulotomy การผ่าตัดเปิดทางเชื่อมทั้งเส้นเพื่อให้แผลเปิด แล้วดูแลแผลต่อจนเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาเต็มแผล เหมาะกับทางเชื่อมที่อยู่ตื้น
  • Fistulectomy การตัดเอาส่วนของทางเชื่อมต่อออกทั้งหมด
  • Advancement Flap การผ่าตัดปิดทางเชื่อมโดยการนำเนื้อเยื่อข้างเคียงของผนังลำไส้ตรงมาคลุมปิดรูเปิดภายในทวารหนัก
  • LIFT Procedure (Ligation of the intersphincteric fistula tract) การผ่าตัดผูกท่อฝีคัณฑสูตร เป็นการผ่าตัดเย็บซ่อมและปิดทางเชื่อมต่อระหว่างรูทวารหนักกับผิวหนังโดยไม่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักบาดเจ็บ ไม่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระหลังผ่าตัด
  • การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ การให้ยาบรรเทาอาการปวด
  • การรักษาโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคโครห์น
SHARE