
มะเร็งปากมดลูกมีอาการอย่างไร เกิดจากอะไร มาทำความเข้าใจ พร้อมกับไปรู้ถึงวิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่สามารถทำได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก
มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยอันดับสองของสตรีในประเทศไทย รองมาจากมะเร็งเต้านม มีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 6,000 รายต่อปี แต่มะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายขาดได้เมื่อตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก และสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ส่วนสัญญาณเตือนของโรคร้ายนี้มีอะไรบ้าง บทความนี้จะขอพาไปรู้จักกับ 6 สัญญาณเตือน และแนวทางการป้องกันที่สามารถทำได้ตั้งแต่วัยเด็ก
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร มีวิธีการรักษาอย่างไร ?
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากสาเหตุการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น HPV 16 และ 18 รวมถึงอาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคได้อีก เช่น การสูบบุหรี่ ภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย การมีคู่นอนหลายคน และการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
ซึ่งวิธีรักษามะเร็งปากมดลูกในปัจจุบัน อาจใช้วิธีการเหล่านี้
- การผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งบริเวณปากมดลูกออกบางส่วน หรือตัดปากมดลูกออกทั้งหมด
- การรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสี
- การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ
- การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็ง
- การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง
แม้ว่ามะเร็งปากมดลูกจะสามารถรักษาได้ แต่หากป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ก็จะดียิ่งกว่า ดังนั้น การสังเกตตนเองอย่างสม่ำเสมอถึงอาการบ่งชี้ ก็จะช่วยให้สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
6 สัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูกมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
มีเลือดออกผิดปกติ
การมีเลือดออกผิดปกติ เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุดของมะเร็งปากมดลูก โดยอาจสังเกตได้จากการมีเลือดออกระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกกะปริดกะปรอย รวมถึงมีเลือดออกในวัยหมดประจำเดือน
มีตกขาวหรือสารคัดหลั่งผิดปกติ
มะเร็งปากมดลูกอาจมีอาการตกขาวหรือสารคัดหลั่งที่ผิดปกติ ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับคุณผู้หญิงที่พบว่าตกขาวหรือสารคัดหลั่งมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ รวมถึงอาจมีเลือดปนแม้หมดประจำเดือนไปแล้ว หรือมีสีผิดปกติ เช่น สีเหลือง สีเขียว หรือสีน้ำตาล ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
หากมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือปวดท้องน้อยต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะลุกลาม โดยอาการมักจะมีลักษณะปวดแบบตื้อ ๆ บริเวณท้องน้อย และปวดรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้ อาจมีอาการท้องอืด หรือรู้สึกอึดอัดในช่องท้องร่วมด้วย
รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
ความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปากมดลูก โดยอาการเจ็บในลักษณะนี้อาจเกิดจากการอักเสบหรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปากมดลูก หรือการลุกลามของมะเร็งไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง
ปัสสาวะผิดปกติ
หากมีอาการปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีสีผิดปกติ ปวด-แสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่ออก อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปากมดลูกในระยะลุกลาม
อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร
หากรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างรุนแรง หรือรู้สึกอ่อนแรงผิดปกติ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปากมดลูกในระยะลุกลามได้เช่นกัน
แนวทางการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
- เลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีคู่นอนหลายคน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
การตรวจภายใน และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ เพราะจะเป็นการตรวจหาความผิดปกติและอาการของโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ โดยในผู้หญิงควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุ 25 ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์
ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV
การฉีดวัคซีนป้องกัน HPV เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถเริ่มฉีดวัคซีน HPV ได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป
มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้ตั้งแต่เด็กเมื่อเลือกฉีดวัคซีนป้องกัน HPV
การป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยการฉีดวัคซีน HPV ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
เพราะร่างกายของเด็กผู้หญิง สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส HPV ได้ดีในช่วงอายุ 9-15 ปี ซึ่งการฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่าการฉีด 3 ครั้งในผู้ใหญ่ จึงแนะนำว่าควรได้รับการฉีดวัคซีนดังนี้
- ผู้หญิงอายุ 9-26 ปี ควรฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่ควรได้รับในช่วงอายุ 11-12 ปีเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
- ผู้ชายอายุ 9-26 ปี สามารถฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนัก โดยแนะนำให้ฉีดในช่วงอายุ 11-12 ปีเช่นเดียวกัน
ข้อดีของวัคซีน HPV
- มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไวรัส HPV ที่ก่อให้เกิดโรคได้ทั้งในชายและหญิง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปาก-ช่องคอ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งอัณฑะ หูดหงอนไก่ และอื่น ๆ
- ผลข้างเคียงน้อยมาก โดยอาจมีอาการปวด บวม คัน เป็นไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แต่อาการเหล่านี้สามารถหายได้เอง
- สามารถฉีดร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการป้องกันและตรวจพบมะเร็งปากมดลูก ซึ่งลดความเสี่ยงในระยะยาว และช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ครอบคลุมทุกช่วงอายุ
มะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ยังเด็กด้วยการฉีดวัคซีน HPV ไม่อยากให้ลูกน้อยต้องเสี่ยงเกิดโรคร้ายอย่างมะเร็งปากมดลูกในอนาคต ปรึกษาเรื่องการป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กได้ที่โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ รามอินทรา ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางพร้อมดูแลเด็ก ๆ ให้บริการรักษาโรคในเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิด จนถึงวัยรุ่น ครอบคลุมทั้งการประเมินสุขภาพ และมีแพ็กเกจฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกสำหรับเด็กพร้อมให้บริการ
นัดหมายออนไลน์หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-793-5000