3 ขั้นตอน เลิก จับ หน้า พูดง่ายแต่ทำยาก

5 พ.ค. 2563 | เขียนโดย พญ.กุลริตรา พิศณุวงรักษ์ ศูนย์สมอง โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

การสัมผัสใบหน้าเป็นพฤติกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะบุคคล มีทุกคน และอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ (เกือบจะอัตโนมัติ) เคยมีการศึกษาว่ามนุษย์เรามีการจับหน้าโดยไม่จงใจบ่อยถึง 3 ครั้งต่อชั่วโมง แต่ละคนก็ชอบที่ใดที่นึงเป็นพิเศษต่างกันไป บริเวณที่พบบ่อย เช่น เท้าคาง ถูหว่างคิ้ว ขยี้ตา ถูจมูก เอามือป้องปาก



การสัมผัสใบหน้าเป็นพฤติกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะบุคคล มีทุกคน และอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ (เกือบจะอัตโนมัติ) เคยมีการศึกษาว่ามนุษย์เรามีการจับหน้าโดยไม่จงใจบ่อยถึง 3 ครั้งต่อชั่วโมง แต่ละคนก็ชอบที่ใดที่นึงเป็นพิเศษต่างกันไป บริเวณที่พบบ่อย เช่น เท้าคาง ถูหว่างคิ้ว ขยี้ตา ถูจมูก เอามือป้องปาก

จากการศึกษาด้านพฤติกรรมศาสตร์เชื่อว่าเป็นกลไกระบายความเครียดแบบนึง การสัมผัสจุดพอใจบนหน้า จะกระตุ้นสมองให้หลั่งฮอร์โมนออกซิโตซินเพื่อผ่อนคลาย (คล้ายๆเวลาถูกกอด)

เราจึงพบว่าคนมักจะเผลอจับใบหน้าขณะกำลังครุ่นคิด ตึงเครียด ใช้สมาธิ เหนื่อยล้า

…มาบอกให้เลิกจับหน้า ก็เหมือนให้เลิกนิสัยติดตัวจึงยากมาก สมองเป็นอวัยวะที่เอาแต่ใจเป็นที่สุด เราไม่สามารถใช้อำนาจจิตใจ บังคับสมอง บังคับมือตัวเอง โดยการบอกซ้ำๆ ว่าอยู่นิ่งๆ อย่าจับ อย่าจับ .. ได้ สมองจะไม่ฟัง เพราะนั่นเท่ากับว่าเราไปห้ามสมอง ให้มันไม่ได้รับความพอใจที่ได้ผ่อนคลาย สุดท้ายสมองก็จะเรียกร้องกลไกการผ่อนคลายให้จงได้

ลองขืนไปสักพักเราอาจจะพบว่า ตัวเองกำลังถูคางไปขณะยังคงท่องในใจว่าอย่าจับๆไปพร้อมกันซะงั้น

จริงๆ จะไม่จับหน้า ก็พอทำได้โดยมีข้อแม้คือ “สมองยังคงต้องได้รับความพอใจอยู่” ดังนั้นเราอาจใช้เทคนิคการปรับสมอง โดย

1. ก่อนอื่นต้องหาว่า ตัวกระตุ้นหรือเหตุการณ์อะไร ที่มักทำให้เราจับหน้า เช่น การอ่านหนังสือ ดูคอม ฟังเลคเชอร์ ขับรถ

2. เมื่อเรารู้แล้วก็จะพอทำนายล่วงหน้าได้ว่า เรากำลังขับรถ…อีกประเดี๋ยวเราจะต้องเผลอจับหน้าแหงๆ…  ขั้นตอนนี้คือ เราใช้สมองส่วนความจดจ่อ (Attention) สร้าง “ความตื่นรู้”  (Self-Awareness) เพื่อเตือนสมองส่วนวางแผน (Execution) ให้เตรียมจัดการกับสมองส่วนใต้อำนาจจิตใจ (Subconsciousness) ไว้ล่วงหน้า

 3. หาสิ่งชดเชยพฤติกรรมนั้น แบบที่มี pattern คล้ายๆกัน เพื่อมาทดแทนให้สมองพอใจ  (Substitution) เช่น เมื่อเราเริ่มๆจะจับหน้า self-awareness ในขั้นที่สอง ก็จะส่งสัญญาณเตือนเรา ขั้นนี้จะก่ำกึ่งอยู่ระหว่าง การรู้ตัวและไม่รู้ตัว เราก็รีบเอา activity ที่เราวางแผนไว้แล้ว มาสวมแทน เช่น ย้ายมือไปดึงชายเสื้อ หรือเอามือประสานกัน ควรทำในรูปแบบเดียวอย่างสม่ำเสมอ

– ตัวอย่างของ การ substitution อื่น เช่น พกผ้าหรือทิชชูติดตัว เวลาจะถูหน้าก็ให้เอามือไปหยิบผ้าก่อน แล้วเอาผ้ามาถูแทน, ขณะที่มือเรากำลังจะ landing บนหน้า เราก็รีบเอา substitution มาโดยเลื่อนมือไปจับท้ายทอยแทน (อย่างน้อยก็ไกลจากจุดที่ไวรัสจะเข้า)

 

เทคนิคข้างต้นคือ เราทำการสร้างชุดข้อมูลนิสัยการจับแบบใหม่ให้สมอง เพื่อมาแทนที่นิสัยจับหน้าเดิม  หากเราฝึกดีๆ นิสัยเดิมจะเริ่มลดจำนวนครั้งลง และนิสัยใหม่จะค่อยๆเกิดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือหลายเดือน กว่าจะเข้ามาทดแทนสำเร็จ

โดยที่เราเองก็อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่าเราเลิกจับหน้าได้แล้ว!

แม้เราจะฝึกแก้นิสัยจับหน้าแล้ว ก็อย่าลืมสิ่งสำคัญสุดคือ ล้างมือบ่อยๆ ใส่ที่ป้องกัน (ใส่มาสก์ หรืออาจใส่แว่นในคนที่ชอบจับคิ้ว) ที่เราต้องคอยบอกตัวเอง ให้สร้างเป็นความเคยชิน และทำสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงระบาดของโรคหรือไม่

อย่าลืมว่าย้ายมือไปลงที่ไหนก็ต้องคอยตามทำความสะอาดจุดนั้นแทนด้วยนะคะ 🙂

SHARE