ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร…นวัตกรรมใหม่ของการลดน้ำหนัก

26 พ.ค. 2565 | เขียนโดย แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลสินแพทย์

การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร (Gastric Balloon) คืออะไร?

คือ การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร โดยใช้วิธีการการส่องกล้องใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหาร คล้ายกับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารทั่วไป ภายในบอลลูนจะใส่น้ำเกลือผสมกับสารสีฟ้าที่เรียกว่าเมทิลีนบลู (Methylene Blue) ในปริมาตร 400 ถึง 500 ซีซี เพื่อลดพื้นที่ในกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้เข้ารับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารรู้สึกอิ่มตลอดเวลา และรับประทานอาหารได้ลดลงกว่าเดิม โดยบอลลูนสามารถปรับเพิ่มหรือลดขนาดได้ และนำบอลลูนออกเมื่อครบหนึ่งปีหรือเมื่อลดน้ำหนักได้ถึงจุดที่พอใจ

 

ใครบ้างที่เหมาะกับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร?

สำหรับผู้ที่เหมาะกับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร จะคำนวณจากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) ซึ่งผู้ที่เหมาะสมจะต้องมีค่า BMI ระหว่าง 27 ถึง 50 หรือผู้ที่เป็นโรคอ้วนและผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก

 

ข้อห้ามของการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

– ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์
– ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะหรือหลอดอาหารมาก่อน
– ผู้ที่มีความเสี่ยงแผลในกระเพาะอาหาร เช่น ทานยาแก้อักเสบเป็นประจำ
– ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเลือดออกง่ายหรือเลือดแข็งตัวยาก

 

ประโยชน์ของการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

  1. ไม่ต้องรับประทานยาเพื่อลดน้ำหนัก
  2. เป็นการลดน้ำหนักโดยไม่ต้องผ่าตัด จึงไม่เจ็บตัว และไม่มีบาดแผล
  3. ภายหลังนำบอลลูนออก ผู้เข้ารับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร จะเกิดความเคยชินกับพฤติกรรมในขณะใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร จึงสามารถนำพฤติกรรมดังกล่าวไปปฏิบัติหลังจากนำบอลลูนออกจากกระเพาะอาหารแล้วได้ ทำให้เป็นการลดน้ำหนักที่ยั่งยืนและปลอดภัย
  4. โดยเฉลี่ยสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่า 24 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 1 ปี

 

การเตรียมตัวก่อนใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ?

  1. แพทย์จะทำการตรวจเลือดตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจโรคประจำตัวเบื้องต้นก่อน
  2. รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหารก่อนอาหารเช้าและเย็นเป็นเวลา 14 วัน
  3. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  4. ส่องตรวจดูกระเพาะอาหารเพื่อดูความพร้อมของกระเพาะอาหาร ในวันที่มาใส่บอลลูน หากพบว่ามีบาดแผลหรือเนื้องอก ต้องเลื่อนการใส่ไปก่อน
  5. ต้องงดรับประทานอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง งดน้ำเปล่าอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนทำการใส่บอลลูน

 

ผลข้างเคียงหลังใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

ผลข้างเคียงทั่วไปหลังจากการใส่บอลลูนมักจะพบในช่วง 1-14 วันแรก หลังใส่บอลลูน คือ จุกแน่นคลื่นไส้ อาเจียนได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงโอกาสพบต่ำมาก เนื่องจากใช้เทคนิคการส่องกล้องเหมือนการตรวจกระเพาะอาหารทั่วไป

 

การปฏิบัติตนและการติดตามผลหลังการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

ผู้เข้ารับการใส่บอลลูนจะได้รับการนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2 วัน เพื่อดูอาการ หากมีอาการแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มาก ๆ พยาบาลจะให้รับประทานยาลดกรดและยาแก้อาเจียน เมื่ออาการผู้เข้ารับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารดีขึ้น ในช่วง 1-7 วันแรกหลังการใส่บอลลูน ให้รับประทานอาหารเหลว เช่น ซุบ ต้มจืด น้ำผลไม้ นม โยเกิร์ต เป็นต้น หลังจากนั้นนัดติดตามการรักษากับแพทย์เดือนละ 1 ครั้ง เมื่อผ่านไป 3 เดือน จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงประมาณร้อยละ 10 จากน้ำหนักเดิม เมื่อครบ 6 เดือน ผู้เข้ารับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ต้องกลับมาพบแพทย์เพื่อปรับขนาดบอลลูนให้ได้ขนาดที่เหมาะสม

 

การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคอ้วนหรือคนที่ต้องการลดน้ำหนัก ทั้งนี้ผู้ที่สนใจใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารสามารถปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

 

SHARE