โรคที่มากับฝน…อันตรายที่ต้องเฝ้าระวังป้องกัน !!!

6 ก.ย. 2565 | เขียนโดย ศูนย์โรคติดเชื้อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์

ในฤดูฝนปี 2565 นี้ ประเทศไทยมีฝนตกค่อนข้างชุก จึงทำให้เราอาจมีอาการเจ็บป่วยจากโรคที่มากับฤดูฝนได้ง่าย โรคที่พบบ่อยในฤดูฝนที่เราควรระวังกันในช่วงนี้มีอะไรบ้าง ?



1.โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

สภาพอากาศที่เย็นชื้นทำให้เชื้อโรคสามารถเติบโตได้ดี ละอองฝนสามารถนำเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่าย โรคที่พบบ่อยในกลุ่มการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น

  • โรคหวัดหรือไข้หวัดทั่วไป (common cold) ซึ่งมีไวรัสที่เป็นสาเหตุหลากหลายชนิด
  • โรคไข้หวัดใหญ่ จากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา ที่พบบ่อยคือ สายพันธุ์ A และ B ทำให้เกิดอาการ ไข้สูง ปวดหัว ปวดตัว ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจ
  • โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ระบาดหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังคงพบได้เรื่อยๆและยังเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบได้ในขณะนี้
  • โรคปอดอักเสบ เป็นการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุได้บ่อยคือ เชื้อ Streptococcus Pneumoniae

 

2. โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร

เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ

  • โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน มีสาเหตุจากเชื้อก่อโรคทั้งแบคทีเรียและไวรัส เช่น Salmonella spp., Vibrio spp., Rotavirus
  • โรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว มีไข้
    * โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส เป็นภาวะที่ตับมีอาการอักเสบจากเชื้อไวรัสตับอักเสบโดยเฉพาะชนิดเอและบี ทำให้เกิดอาการไข้ ตัวเหลือง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง

 

3.โรคติดเชื้อผ่านทางผิวหนังและเยื่อบุ

การสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น แหล่งน้ำท่วมขัง แหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลจากคนและสัตว์ ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น
* โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เกิดจากหนูหรือสัตว์ฟันแทะเป็นพาหะของโรค เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์มาปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำ และเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีแผลหรือทางเยื่อบุ ทำให้เกิดอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ อาเจียน ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย ไตวายเฉียบพลัน
* ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ จากการเดินลุยนำ้ที่สกปรกร่วมกับความชื้นแฉะ ทำให้ผิวหนังมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา เกิดอาการผื่นคัน เป็นแผลติดเชื้อ ตุ่มฝีหรือตุ่มหนอง

 

4. โรคที่มียุงเป็นพาหะ

โรคติดต่อที่เกิดจากยุงเป็นพาหาะนำโรค ทั้งยุงลาย ยุงรำคาญ ยุงก้นปล่อง มักจะระบาดในบริเวณที่มีแหล่งน้ำหรือน้ำท่วมขัง ที่พบได้บ่อย เช่น
* โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ มียุงลายเป็นพาหะ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง สามารถทำให้เกิดภาวะเกร็ดเลือดต่ำจนมีเลือดออกผิดปกติหรือภาวะช็อกจนอาจอันตรายถึงชีวิตได้
* โรคชิกุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดตามข้อ ปวดหัว มีผื่นแดงตามแขนขา ตาแดง
* โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ทำให้เกิดอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ถ้ามีอาการรุนแรงอาจมีตับวาย ไตวายได้
* โรคไข้สมองอักเสบเจอี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเจอีที่สมอง มียุงรำคาญเป็นพาหะ ทำให้มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน เวียนศีรษะ อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงจากสมองอักเสบ เช่น ซึมลง สับสน ชักหมดสติ อัมพฤกษ์ อัมพาต ถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

5.โรคตาแดง

เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำที่สกปรกเข้าตา ทำให้เกิดอาการตาแดง แสบตา เคืองตา ขี้ตาเยอะ

เนื่องจากโรคที่มากับฤดูฝนนั้นมีมากมาย ทั้งโรคที่มีอาการไม่รุนแรงจนถึงโรคที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นเราควรดูแลตนเอง โดยการรักษาความสะอาด ล้างมือล้างเท้าบ่อยๆ รักษาร่างกายให้อบอุ่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับวัคซีนป้องกันโรคให้ครบถ้วนเหมาะสม หากมีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการศูนย์โรคติดเชื้อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

SHARE