โควิด XBB.1.16 ติดง่ายแค่ไหน ต่างจากสายพันธุ์เดิมอย่างไร?

18 เม.ย. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 หรือ อาร์คตูรุส (Arcturus) เป็นสายพันธุ์ย่อยของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่อยู่ในการเฝ้าระวังขององค์การอนามัยโลก ขณะนี้พบการระบาดของสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศอินเดีย



โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 มีอาการอย่างไร ?

อาการของโควิดสายพันธุ์นี้ นอกจากมีไข้สูง ไอ เจ็บคอ น้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ยังพบมีรายงานการเกิดเยื่อบุตาอักเสบสูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการตาแดง เคืองตา ขี้ตามาก ซึ่งเป็นอาการที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้

 

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ติดง่ายกว่าสายพันธุ์โอมิครอนเดิมหรือไม่ ?

โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามของไวรัส เพิ่มขึ้น 3 ตำแหน่งคือ E180V, K478R และ S486P ทำให้สามารถเกาะติดเซลล์ของมนุษย์ได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม อีกทั้งพบว่า XBB.1.16 สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์โอมิครอนเดิม 1.5 – 2 เท่า

 

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง ?

ผู้ป่วยในกลุ่ม 608 คือ กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป รวมถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้รับวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรง

 

ดังนั้นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ หากตรวจพบเชื้อควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและพิจารณารับยาต้านไวรัสโดยทันที

SHARE