แผลเบาหวานดูแลให้ดี ก่อนถูกตัดเท้า

2 พ.ย. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

โรคเบาหวาน (Diabetes) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินสุลิน (Insulin) ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณน้ำตาล



ปัจจุบัน “เบาหวาน” ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาหลายประการ ที่สำคัญคือ “การเกิดแผลเบาหวาน” เพราะเรื่องที่น่าห่วงของคนไข้โรคเบาหวานคือ เมื่อเกิดบาดแผลแล้วอาจติดเชื้อได้ง่ายและหายยาก ทางที่ดีคนไข้ควรใส่ใจดูแล อย่าละเลยจนเกิดบาดแผล 
แผลเบาหวาน เป็นบาดแผลเรื้อรังที่พบได้บ่อย สาเหตุหลัก ๆ มักจะเกิดกับผู้เป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงที่ระบบประสาทส่วนปลาย รวมถึงหลอดเลือดส่วนปลายจะเสียหาย ส่งผลให้เส้นเลือดตีบและอุดตันในที่สุดเมื่อเท้าเกิดการขาดเลือดส่งผลให้แผลหายยากเพราะไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระบบประสาทรับความรู้สึกเสื่อมรับความรู้สึกได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย จึงเกิดอาการชา ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสความร้อนหรือเย็น มีแผล หรือแม้กระทั่งบางอย่างที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ เช่น เล็บขบ เป็นสาเหตุทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อได้ง่าย เมื่อเป็นแผลที่เท้าในช่วงแรกมักไม่รู้สึก กว่าจะรู้ตัวแผลก็ลุกลามไปมากแล้ว ทำให้รักษายาก ขบวนการการรักษาแผลของร่างกายเป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งการที่ระบบประสาทสั่งการผิดปกติก็ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ เท้าเกิดการผิดรูปบิดเบี้ยว เนื้อบริเวณปุ่มกระดูกบางแห่งต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกิดเป็นแผลได้เช่นกัน และหากมีการติดเชื้อรุนแรงร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจต้องถูกตัดเท้าหรือขา

กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแผลเบาหวาน

กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแผลเบาหวาน คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นแผลเบาหวานเรื้อรังมานาน 5 – 10 ปี ยิ่งเป็นโรคเบาหวานมานานหลายปียิ่งเสี่ยงที่จะเกิดบาดแผล ทั้งนี้ปัจจัยในการเป็นแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานคือคนที่เป็นโรคเบาหวานเรื้อรังและควบคุมระดับน้ำตาลไม่ค่อยได้ การสูบบุหรี่ อายุที่มากขึ้น แต่ทั้งนี้พบว่า ร้อยละ 85 ของการสูญเสียสามารถป้องกันได้โดยการตรวจ ดูแลรักษาแผลและหลอดเลือดตั้งแต่ระยะแรก ดังนั้นการตรวจค้นหาและดูแลตั้งแต่ระยะแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพเท้าในผู้เป็นเบาหวาน

 

การป้องกันดูแลแผลเบาหวาน

ในการป้องกันดูแลแผลเบาหวานสิ่งสำคัญที่สุด คือการคุมระดับน้ำตาล และหมั่นตรวจเท้า (Foot Care) โดยก่อนนอนต้องคอยตรวจเท้าทุกวัน รวมทั้งคนไข้ควรมีกระจกดูด้านล่างของเท้าเพื่อส่องบริเวณนิ้วเท้าและใต้เท้าด้วย เพราะอาการชาไม่รู้สึกเจ็บจะทำให้แผลไม่รบกวนผู้ป่วยจนกระทั่งลุกลามไปแล้ว สำหรับคนไข้เบาหวานหากมีบาดแผลเกิดขึ้น ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลัก ๆ มี 2 ประเด็น คือ

  1. มีเส้นเลือดตีบหรือตัน ซึ่งทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเท้าไม่เพียงพอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเริ่มจากมีอาการปวดน่อง เดินได้เพียงระยะทางสั้น ๆ ต้องนั่งพักเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ ถ้าผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ปล่อยให้ลุกลามจนเลือดไปเลี้ยงไม่ได้กลายเป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งระยะการลุกลามนั้นขึ้นอยู่กับว่าบาดแผลนั้นขาดเลือดหรือติดเชื้อรุนแรงมากเพียงใด ดังนั้นเมื่อพบแผลหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ทางที่ดีที่สุดควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  2. เนื่องจากคนไข้เบาหวานจะมีน้ำตาลในเลือดสูง หากไม่ควบคุมน้ำตาล ก็จะยิ่งทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ง่ายและหายยาก

 

 

SHARE