เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ…ทานอย่างไรให้สุขภาพดี!

5 ต.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารให้เป็นสัดส่วน



➤ ควรรับประทานอาหารให้เป็นสัดส่วน

เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารให้เป็นสัดส่วน เช่น  ½ เป็นผัก ¼ เป็นแป้ง และ อีก ¼ เป็นโปรตีน ในทุกๆมื้อ เพราะผักมีวิตามินและสารอาหารมากแต่มีแคลอรี่น้อยนอกจากนี้ผักยังมีใยอาหารมากทำให้อิ่มนานและขับถ่ายได้สะดวกอีกด้วย

 

➤ ควรเลือกอาหารที่น้ำตาล และคาร์โบไฮเดรทเชิงเดี่ยว

น้ำตาล และคาร์โบไฮเดรทเชิงเดี่ยวเป็นตัวที่เพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงทำให้มีแคลอรี่สูงแต่คุณค่าทางอาหารต่ำซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วนลงพุง ตัวอย่างของคาร์โบไฮเดรทเชิงเดี่ยว ได้แก่ ข้าวขาว แป้งขาว มันฝรั่งขาว เป็นต้น

 

➤ ควรเลือกไขมันที่ดีต่อสุขภาพ

หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวโดยไขมันทรานส์พบได้ในขนมกรุบกรอบ และอาหารจานด่วนทั้งหลาย ส่วนไขมันอิ่มตัวพบได้ในเนย และชีส ไขมันที่ดีต่อสุขภาพ คือไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งจะพบได้ใน น้ำมันมะกอกหรือไขมันจากการรับประทานถั่วหรือปลา

 

➤ ควรทานใยอาหารให้มากขึ้น

ใยอาหารจะช่วยในการย่อย การขับถ่าย และช่วยให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้นโดยใยอาหารจะพบได้ใน ผัก ขนมปังโฮลวีท ข้าวกล้อง ถั่ว

 

➤ ควรเลือกโปรตีนที่มีประโยชน์ 

คือไม่รับประทานเนื้อสัตว์ 1 วันต่ออาทิตย์ หรือ เลือกรับประทานถั่วหรือเต้าหู้แทนเนื้อสัตว์ใหญ่ หากท่านมีปัญหาการเคี้ยวหรือการกลืนลองรับประทานโปรตีนนุ่มๆ เช่น เนื้อปลา หรือ เต้าหู้

 

➤ ควรหลีกเสี่ยงน้ำตาล โซเดียม (เกลือ) และไขมันอิ่มตัว

ควรรู้จักอ่านฉลากอาหารก่อนซื้อทุกครั้งเพื่อทำความเข้าใจกับสารอาหารทุกอย่างที่จะเข้าไปในร่างกายของเราโดยให้คุณหลีกเลี่ยงน้ำตาล โซเดียม (เกลือ) และไขมันอิ่มตัว เลือกอาหารที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ และไม่ใส่สารสังเคราะห์ สารกันบูด หรือวัตถุกันเสีย

 

➤ ควรจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

เมื่ออายุมากขึ้นความรู้สึกกระหายน้ำจะลดลงทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำโดยที่ไม่รู้สึกตัวได้ ดังนั้น จึงควรจิบน้ำอยู่เป็นประจำตลอดทั้งวัน ซึ่งน้ำเปล่าเป็นสิ่งดีที่สุด ควรหลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลเยอะ หรือเครื่องดื่มคาเฟอีน

SHARE