อันตราย! ภาวะวูบหมดสติ ไม่ใช่เรื่องปกติ

12 พ.ค. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์

ภาวะวูบหมดสติคืออะไร ?

ภาวะวูบหมดสติ (Syncopal Attack) หมายถึงภาวะที่มีการสูญเสียการรับรู้สติ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะได้แก่ หมดสติเฉียบพลัน เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น และสามารถฟื้นคืนสติได้ด้วยตัวเอง (Transient loss of consciousness : TLOC)

 

มักมีสาเหตุเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ บางรายมีสาเหตุมาจากอาการชัก หรือระบบหูชั้นในมีปัญหา ทำให้เสียการทรงตัวหรือวิงเวียน อาการเหล่านี้ หากไม่ระวัง ผู้ป่วยอาจล้มลงศีรษะกระแทกพื้นได้รับบาดเจ็บได้

สาเหตุของการหมดสติมีอะไรบ้าง?

 

1. สาเหตุที่มาจากโรคของหัวใจโดยตรง เช่น

  • หลอดเลือดหัวใจตีบ
  • ลิ้นหัวใจตีบ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งชนิดเร็วและช้า
  • กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติ, ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
  • กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ

2. สาเหตุที่มาจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ จะพบในบางสถานการณ์ที่จำเพาะ เช่น

  • หลังการไอ จาม  เบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ
  • ยืนนานๆ ในที่มีคนแออัด หรืออากาศร้อนจัด
  • ยืนนานๆ ในที่มีคนแออัด หรืออากาศร้อนจัด
  • กลัวการเจาะเลือด กลัวเข็มฉีดยา
  • หลังการออกกำลังกาย
    พบในโรคเรื้อรังที่มีผลต่อการทำงานของระบบประสาท, เส้นประสาทเสื่อม
  • เบาหวาน (Orthostatic hypotension)
  • โรคทางสมองบางอย่างที่มีระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม เช่น พาร์กินสัน, สมองเสื่อม
  • อันตรายต่อไขสันหลัง

3. ภาวะการสูญเสียเลือด หรือ ขาดน้ำ

4. ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาลดความดันโลหิต, ยาขับปัสสาวะ, ยาต้านเศร้า, ยารักษาต่อมลูกหมาก

 

 

ป้องกันการเกิดภาวะวูบหมดสติ อย่างไร ?

แม้ว่าอาการดังกล่าว มีที่มาได้จากหลายสาเหตุ แต่ในเบื้องต้น หากเรามีการรักษาสุขภาพให้ดี และหมั่นตรวจตราสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้เรามีอาการหน้ามืด หมดสติได้

 

  • หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การรู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัวหรือมีอาการผิดปกติอะไร จะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับอาการผิดปกติได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับอายุ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นที่ความสม่ำเสมอ ไม่ได้เน้นที่ความหนักหรือหักโหม
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน (ควรดื่มน้ำให้ได้ 8-13 แก้วต่อวัน)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และนอนหลับให้เป็นเวลา อย่างน้อย  7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • หากมีอาการวูบตอนเปลี่ยนท่า ควรเปลี่ยนท่าช้าๆ
  • ถ้ากินยาเป็นประจำแล้วทำให้หน้ามืดเป็นลมบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์
  • ติดตามและศึกษาแนวทางการสังเกตอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงต่างๆ ตามอาการวูบที่ปรากฏ

 

 

เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ควรทำอย่างไร ?

เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้ คือ

  • ให้ผู้ป่วยนอนราบกับพื้นที่สะอาด ปลอดภัย
  • ไม่มุงดู เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก
  • ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง ป้องกันลิ้นตก
  • ถ้ากำลังรับประทานอาหารอยู่ มีอาหารในปาก  มีฟันปลอมอยู่ ควรใช้ผ้าล้วงเศษอาหารออกจากปาก และถอดฟันปลอมได้ ให้ช่วยถอดฟันปลอม
  • เรียกรถฉุกเฉิน หรือนำส่งโรงพยาบาล
SHARE