ว่าที่คุณแม่อย่าเบาใจ! เบาหวานขณะตั้งครรภ์ รู้ทัน ป้องกันได้

1 พ.ย. 2565 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

เชื่อว่า เมื่อว่าที่คุณแม่หลายๆ คนรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ คงจะพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่ตัวเองต้องเจอ โดยหนึ่งในอาการที่พบบ่อยคือ “เบาหวานขณะตั้งครรภ์” เนื่องจากเป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งสาเหตุเกิดจากรกผลิตฮอร์โมนที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินพูลิน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ทำให้ททารกตัวโต(Macrosomia) ทารกแรกเกิดน้ำตาลต่ำ (Hypoglycemia) มารดาจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษสูงขึ้น น้ำคร่ำผิดปกติ แต่อย่างไรก็ตามหากได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างแม่นยำตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ก็จะสามารถรับมือได้อย่างถูกวิธี ช่วยให้คลายความกังวลใจได้

ปัจจัยเสี่ยงภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน
  • อ้วนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
  • มีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ
  • ไขมันในเลือดสูง (Triglycerides)
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป

โดยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะไม่แสดงอาการใด แต่ต้องอาศัยการสังเกตอาการได้จากอาการต่างๆ เช่น รู้สึกหิวกระหายน้ำมากกว่าปกติ ปัสสะวะบ่อยกว่าปกติ รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย คล้ายกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการได้รับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

อันตรายของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์                                                                                              

หากเกิดภาวะเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เด็กในครรภ์เกิดภาวะหัวใจพิการได้ หรือถ้าหากทารกในครรภ์ได้รับน้ำตาลมากเกินไปอาจเกิดภาวะอ้วน ซึ่งส่งผลต่อตัวเด็กโดยตรงและตัวแม่เด็กขณะคลอด เด็กอาจเสียชีวิตได้จากภาวะอ้วน เนื่องจากร่างกายของทารกมีการผลิตสารอินซูลินมากเกินไปเพื่อมาจัดการกับน้ำตาล แต่เมื่อเด็กคลอดแล้วสายสะดือถูกตัดออก จะทำให้เด็กไม่ได้รับน้ำตาลแบบกระทันหัน ขณะที่อินซูลินยังคงค้างอยู่ในร่างกายจำนวนมาก จึงทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ (ไฮโปไกลซีเมีย) รวมถึงเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ และเสียชีวิตได้

การดูแลโภชนาการขณะตั้งครรภ์

กรณีที่พบความผิดปกติ มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ขั้นตอนแรกแพทย์จะให้ความรู้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ถึงเรื่องอาหารการกิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ไม่ให้น้ำตาลสูงเกินไป จากนั้นจะให้คุณแม่ติดตามและบันทึกผลระดับน้ำตาลก่อนอาหารและหลังอาหารตามช่วงเวลาที่กำหนด และถ้าหากพบว่าระดับน้ำตาลเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แพทย์จะทำการฉีดอินซูลินและปรับการใช้ยา เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้เป็นอันตรายต่อตัวทารกในครรภ์ แต่ถ้าหากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ก็จะใช้วิธีควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียว โดยอาหารที่ไม่ควรรับประทานตอนที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ อาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงของทอด เน้นโปรตีนที่มีประโยชน์ และผักผลไม้ที่น้ำตาลต่ำ

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ควรชะล่าใจ คุณแม่จึงจำเป็นต้องฝากครรภ์เพื่อเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าว ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่ฝากครรภ์ในครั้งแรก โดยการเจาะเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล หากตรวจพบความเสี่ยง แพทย์จะให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมออกมาลืมตาดูโลกได้อย่างปลอดภัย

 

แผนกสูตินรีเวช

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา https://bit.ly/3e83UBL
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา https://bit.ly/37A0ntK
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ https://bit.ly/2Y2Wc6u
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ https://bit.ly/3e1G2jf
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ https://bit.ly/2LaTDM7
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี https://bit.ly/3sgndAe

SHARE