มาทำความรู้จัก “ โรคภูมิแพ้ ” กันเถอะ

30 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย พญ.ศิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์ เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้และระบบภูมิคุ้มกัน

ลูกตัวน้อยของคุณ มีอาการเหล่านี้หรือไม่ ผื่นแพ้ผิวหนัง คันเรื้อรัง ผิวแห้ง หยาบหนา ถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย แหวะนม น้ำหนักไม่ขึ้น เลี้ยงไม่โต น้ำมูกไหลทุกเช้า แน่นจมูก หายใจครืดคราดทุกคืน เป็นหวัดทุกเดือน นอนกรน เล่นซนไม่มีสมาธิ หายใจหอบเหนื่อยต้องมาพ่นยาที่ รพ. เมื่อเป็นหวัด

 

สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ คือ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่เพิ่มความ เสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ทุกชนิด โดยถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว ลูกก็จะมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ได้มากขึ้น สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ตอนคุณแม่ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงดูเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอยู่ใกล้ชิดคนสูบ บุหรี่จะเพิ่มความรุนแรงของการเป็นโรคภูมิแพ้

 

การเกิดโรคภูมิแพ้ มักเป็นไปตามอายุเช่น การแพ้โปรตีนนมวัว (Cow’s milk protein allergy) มักพบในช่วงขวบปี แรก โดยพบว่า การที่แม่ดื่มนมวัวปริมาณมากกว่าปกติในช่วงตั้งครรภ์ให้นมบุตรการมีพี่น้องมีอาการแพ้โปรตีนนมวัวอยู่แล้ว จะเพิ่มความเสี่ยง ต่างจากการเป็น ภูมิแพ้อากาศ (Allergic rhinitis) มักจะพบในช่วงอายุ 3-4 ขวบปีโดยพบว่า การเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ ไรฝุ่นแมลงสาป เชื้อรา หญ้า วัชพืช ละอองเกสร รวมไปถึงการมีสัตว์เลี้ยงในบริเวณบ้าน ทั้งสุนัข และแมวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และกระตุ้นทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้ส่วนการเกิดภาวะหลอดลมไวหลังการติดเชื้อไวรัส (Viral induced wheezing)และการเป็นโรคหอบหืด (Asthma) นั้น สามารถพบได้ในช่วงอายุที่หลากหลาย ซึ่งถ้า มีภาวะหลอดลมไวหลังการติดเชื้อไวรัส บ่อยครั้งก่อนอายุ 5 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดได้มากกว่าปกติ ถึง 2-3 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อจากไวรัสทางเดินหายใจ RSV

 

การแพ้โปรตีนนมวัว (cow’s milk protein allergy) มีอาการแสดงได้หลายรูปแบบ ทั้งอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นคันผื่นเม็ด ทราย (Maculopapular rash) ผื่นแพ้ผิวหนัง ที่มีลักษณะหยาบ หนา แห้ง คันเรื้อรัง บริเวณที่เฉพาะเจาะจง (Atopic dermatitis) เช่น แก้ม ข้อมือข้อเท้า ข้อพับแขนขา รวมไปถึงตามลำตัวและท้องได้ ผื่นลมพิษ (Urticaria) ไปจนถึงอาการบวม ของเยื่อบุบริเวณหน้าและปาก (Angioedema) ไปจนถึงแพ้แบบรุนแรง Anaphylaxis ได้ อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไหลเรื้อรัง หายใจครืดคราด หอบเหนื่อย อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายบ่อย ถ่ายท้องเสีย แหวะนม กินนม ยาก น้ำหนักไม่ขึ้น เลี้ยงไม่โต ร้องไห้โคลิค (Colic)

 

ภูมิแพ้อากาศ (Allergic rhinitis) มีอาการแสดงระบบทางเดินหายใจ ได้ตั้งแต่ การเป็นหวัดเรื้อรัง น้ำมูกใส จามง่าย คันจมูก คันตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแน่นจมูกบ่อยๆ นอนหายใจเสียงดัง เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ออกกำลังกายไม่ได้เต็มที่ โดยอาจจะ เป็นเฉพาะช่วงเวลาเช้า กลางคืน เวลาที่อากาศเปลี่ยน อากาศเย็น หรือเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้    สารก่อระคายเคือง ถ้ารุนแรง อาจเป็นตลอดเวลาจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจสังเกตได้จากการที่มีใต้ตาคล้ำ (Allergic shiners) หรือริมฝีปากล่างแห้งแตก (Chelitis) เนื่องมาจากอาการแน่นจมูกเรื้อรัง จนทำให้มีการขยายตัวของเส้นเลือดดำ ภูมิแพ้อากาศ ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นครั้งคราว จึงทำให้ส่วนใหญ่ละเลยเรื่องของการรักษา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน เป็นไซนัสอักเสบ (Sinusitis) ริดสีดวงจมูก (Nasal polyp) เยื่อบุตาอักเสบ (Atopic conjunctivitis)ได้ และในรายที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว อาจจะกระตุ้นให้อาการหอบเหนื่อยเป็นบ่อยครั้ง จนควบคุมไม่ได้ด้วย

 

ภาวะหลอดลมไว หลังการติดเชื้อไวรัส (Viral induced wheezing) ในที่นี้ หมายรวมถึง เชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดธรรมดา (Rhinovirus) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ไวรัส อาร์ เอส วี (RSV; Respiratory syncytial virus) ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะมีภาวะของหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ นอกจากจะมีไข้ ไอ น้ำมูกแล้ว จะยังมีอาการรุนแรงถึง ไอเรื้อรัง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี๊ดจากหลอดลมเกร็ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการให้ยาพ่นขยายหลอดลม และการให้ออกซิเจนอย่างทันท่วงที มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปีที่ยังไม่มี อาการแสดงของโรคหอบหืดอย่างชัดเจน แต่การหอบเหนื่อยจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไวรัส RSV จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืดได้ ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่มีความเสี่ยงทางด้านพันธุกรรมในครอบครัวก็ตาม ในปัจจุบัน มีการทดสอบทางภูมิแพ้หลากหลายวิธี นอกจากจะช่วยในเรื่องของการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องแม่นยำ แล้วยังช่วยในเรื่องของการพิจารณาทางเลือกในการรักษา การพยากรณ์โรค และการหลีกเลี่ยงป้องกันเพื่อให้ความรุนแรงของ โรคลดลง และไม่เกิดการเป็นซ้ำได้อีก

SHARE