รู้จักกับ… หัวใจเต้นผิดจังหวะ

15 ก.ค. 2563 | เขียนโดย ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

คุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีอาการเหล่านี้ วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่นบริเวณหน้าอก หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นลมหมดสติ นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณควรพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ



ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

คือ การที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรใน ห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุด ตันเพิ่มมากขึ้น

 

ชนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถแบ่งได้เป็นหลายชนิด โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ 2 ชนิดดังนี้

  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

 

 สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยการที่หัวใจจะเต้นเร็วหรือช้าลงขึ้นกับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ประวัติสุขภาพ และปัจจัยแวดล้อมของผู้ป่วยแต่ละราย โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่

  • ความผิดปกติแต่กำเนิดหรือความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบ
  • ความผิดปกติของร่างกายที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ
  • ยาและสารบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน คาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม
  • ความเครียดและความวิตกกังวล

 

อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมักไม่ทราบว่าตนเองมี ปัญหา โดยมักพบภาวะนี้จากการตรวจสุขภาพหรือเมื่อป่วยด้วยโรคอื่นแล้วมาพบแพทย์ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปรากฏให้สังเกตได้ เช่น

 

  • วิงเวียน
  • หน้ามืด
  • ตาลาย
  • ใจสั่นบริเวณหน้าอก
  • หายใจขัด
  • เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก
  • เป็นลม หมดสติ

 

การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • การซักประวัติอย่างละเอียด เช่น การดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม โรคประจำตัวต่างๆ (เช่น เส้นเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือภาวะไทรอยด์)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ในขณะที่มีอาการ
  • การติดเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจไว้ที่ตัวผู้ป่วยเป็นเวลา 24 หรือ 48 ชั่วโมง (Holter monitoring test) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบ่อยแต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย (exercise stress test; EST)
  • การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram)
  • การตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ (cardiac electrophysiology study)

 

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่ต้องทำการรักษา แต่ในบางชนิดที่ต้องทำการรักษาจะมีทางเลือกในการรักษา ดังนี้

  • การใช้ยาควบคุมจังหวะของหัวใจ ซึ่งถึงแม้จะไม่ช่วยให้หายขาด แต่ก็ลดความถี่และความรุนแรงของการได้ โดยพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิดตอบสนองดีต่อการใช้ยา
  • การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) เป็นการฝังเครื่องมือเล็กๆ ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณกระดูกไหปลาร้า เพื่อตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ และสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจเพื่อควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่ กำหนด
  • การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (cardioversion) ใช้ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป โดยแพทย์จะใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกายซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแปะ ที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่
  • การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ (ablation therapy) วิธีนี้เป็นการรักษาที่ต้นเหตุซึ่งอาจช่วยให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด หายขาดได้ โดยเป็นวิธีการรักษาที่ต่อเนื่องจากการตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ เมื่อสอดสายสวนไปยังตำแหน่งที่เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุของความผิดปกติ แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็กๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น
  • การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (implantable cardioverter defibrillator) เป็นการฝังเครื่องมือคล้ายกับเครื่องกระตุ้นหัวใจ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ (ventricular fibrillation) ซึ่งอาจอันตรายต่อชีวิต โดยเมื่อหัวใจเต้นช้า เครื่องมือจะทำหน้าที่ในการกระตุ้นหัวใจ แต่เมื่อหัวใจเต้นเร็ว เครื่องมือจะปล่อยพลังงานไฟฟ้าในระดับที่เหมาะสมเพื่อกระตุกหัวใจให้กลับมา เต้นปกติทันที

 

การป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่สามารถลดโอกาสเกิดให้น้อยลงได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ตรวจสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์หัวใจ หรือ ศูนย์หัวใจล้มเหลว 

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

 

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ 

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

SHARE