รักษาไทรอยด์ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ทางเลือกใหม่ในการรักษา

14 ก.ค. 2565 | เขียนโดย แพทย์อายุรกรรม โรงพยาบาลสินแพทย์

ผู้ที่มีอาการผิดปกติของต่อมไทรอยด์ มักจะไม่มีอาการ แต่จะสังเกตได้ก็ต่อเมื่อมีก้อนที่ลำคอ กลืนลำบาก ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในอนาคตได้ จึงต้องมีการตรวจวินิจฉัยอย่างแม่นนำ ส่วนการรักษามีอยู่หลายวิธี เช่น การรักษาด้วยการกินยา การกลืนแร่ไอโอดีน การผ่าตัดส่องกล้อง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ซึ่งการรักษาไทรอยด์ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

หน้าที่ของต่อมไทรอยด์ 

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมขนาดเล็กอยู่ที่คอ ใต้ลูกกระเดือก ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่สาคัญคือ Tetraiodothyronine และ Triiodothyronine ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด ฯลฯ หากต่อมไทรอยด์ทำงานได้ไม่ดี ก็จะส่งผลให้ร่างกายแปรปรวนอย่างมาก

 

อาการผิดปกติของต่อมไทรอยด์

โดยทั่วไปหากเกิดความผิดปกติของก้อนที่ต่อมไทรอยด์ มักจะไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่มักตรวจพบความผิดปกติจากการเจอก้อน เมื่อก้อนโตขึ้นจนสังเกตได้โดยผู้ป่วยเอง หรือตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อมาตรวจสุขภาพ โดยผู้ป่วยบางรายจะเห็นเป็นก้อนเดี่ยวๆ ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายจะรู้สึกเหมือนมีก้อนหลายๆ ก้อนติดกัน และที่สำคัญคือ ก้อนที่เกิดบนต่อมไทรอยด์จะขยับเคลื่อนขึ้น-ลง ขณะที่เรากลืนน้ำลาย ผู้ป่วยบางรายยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เสียงแหบ กลืนลำบาก แน่นอึดอัดลำคอเวลานอนหงาย

 

หากพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์บอกโรคอะไรได้บ้าง

  • คอพอก หรือ คอหอยพอก (Nodular goiter)
  • เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Adenoma)
  • เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของต่อมไทรอยด์แต่ทำงานมากเกินไป (Toxic Adenoma)
  • มะเร็งไทรอยด์ (Thyroid Carcinoma)

 

แนวทางการตรวจวินิจฉัย

  • ซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อตรวจสอบประวัติการเป็นมะเร็งจากพันธุกรรม
  • ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) เพื่อดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์
  • สุ่มเจาะเนื้อเยื่อจากต่อมไทรอยด์ไปตรวจ
  • ตรวจโดยใช้อัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

การรักษาโรคไทรอยด์

การรักษาโรคไทรอยด์สามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น การรักษาด้วยการกินยา การกลืนแร่ไอโอดีน การผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาจประเมินจากอายุของผู้ป่วย ขนาดของต่อมไทรอยด์ ระยะเวลาของโรค

 

การรักษารักษาไทรอยด์ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ทางเลือกใหม่ในการรักษา

ในการรักษาโรคไทรอยด์ด้วยการผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องผ่านทางช่องปาก ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น เนื่องจากการผ่าตัดผ่านกล้องแพทย์จะสอดอุปกรณ์เข้าไปตัดและคีบต่อมไทรอยด์ผ่านทางปาก ทำให้เกิดแผลผ่าตัดบริเวณเยื่อบุ ใต้ต่อ ริมฝีปากล่างขนาดเล็ก เพียง 1-2 ซม. เจ็บน้อย แผลหายเร็ว ไม่มีแผลเป็นที่ผิวหนังบริเวณคอภายนอก

ต่างจากการผ่าตัดไทรอยด์แบบเดิม ที่จำเป็นจะต้องลงมีด ทำให้เกิดแผลที่คอบริเวณด้านหน้า ซึ่งแผลจะมีความยาว 5-10 ซม. หลังผ่าตัดจะก่อให้เกิดแผลขนาดใหญ่ เจ็บแผล ฟื้นตัวช้า หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดได้ นอกจากนี้ยังมีแผลเป็นที่อยู่ด้านหน้าคออีกด้วย

 

แผนก หู คอ จมูก

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา https://bit.ly/2zB4YPz
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา https://bit.ly/2AEhw9s
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ https://bit.ly/2zAksTY
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ https://bit.ly/2AwEL5r
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ https://bit.ly/38yyCDC
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี https://bit.ly/2MS9Shn

 

SHARE